ก.ค.ศ.เตรียมปรับเกณฑ์การคัดเลือก ผอ. รอง ผอ. สถานศึกษาใหม่ ล็อกตำแหน่งถ้าสอบได้ต้องไปโรงเรียนขนาดเล็กก่อน แล้วค่อยเลื่อนเป็นขนาดกลางและขนาดใหญ่ตามลำดับ และกำหนดระยะเวลาครูที่มีคุณสมบัติให้มีโอกาสได้รับการคัดเลือกมากขึ้นด้วย
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาฯ ก.ค.ศ.) กล่าวถึงกรณีการปรับรื้อเกณฑ์คัดเลือกผู้อำนวยการ (ผอ.) และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา (รอง ผอ.) ว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ตนได้ไปเข้าร่วมประชุมสัมมนาเรื่องการวางนโยบายการปรับปรุงเกณฑ์วิธีการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรอง ผอ. และ ผอ.สถานศึกษา ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ต้องการให้ผู้เข้าสอบคัดเลือกต้องมีประสบการณ์มาก่อน ที่ประชุมจึงได้ศึกษาโดยอิงกับกฎหมายเก่าในเรื่องของมาตรฐานตำแหน่ง ซึ่งในอดีตจะมีตำแหน่งครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการ ฉะนั้นต้องเปรียบเทียบว่าหากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้อำนวยการจะต้องมีตำแหน่งหรือค่าตอบแทนวิทยฐานะได้ขนาดไหน และในส่วนของโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ก็เช่นกันด้วย นอกจากนี้จะต้องมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานว่าผู้ที่จะมาเป็น ผอ. รอง ผอ. ควรมีมาตรฐานอย่างไร ทั้งนี้อาจก็เป็นไปได้ว่าอาจจะแตกต่างกันไปตามขนาดโรงเรียน
เลขาฯ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไม่ได้ห้ามหรือบังคับว่า ผอ. รอง ผอ. ที่สอบผ่านการคัดเลือกจะต้องบรรจุที่โรงเรียนขนาดใด และเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดการในการลงตำแหน่ง แต่เกณฑ์ที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้จะเป็นการล็อกโดยอัติโนมัติ คือเมื่อมีโรงเรียนขนาดเล็กว่างจะต้องบรรจุในโรงเรียนขนาดเล็กก่อน แล้วค่อยขยับมาเป็นโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งในมาตรฐานตำแหน่งของ ผอ.และรอง ผอ.จะเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า คุณสมบัติของ ผอ.และรอง ผอ. โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ จะเป็นเช่นไร
"การสรรหาที่มาก็ต้องเริ่มจากโรงเรียนขนาดเล็กก่อน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนได้ ถ้าได้ ผอ.ที่มีคุณภาพก็จะเกิดประสิทธิภาพและจะเกิดความเชื่อมโยงในเรื่องของคุณภาพการเรียนการสอนด้วย ทั้งนี้ การปรับเกณฑ์จะมีการนำเสนอต่อ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ ในวันที่ 11 มีนาคม 2559 และเสนอต่อ ก.ค.ศ. ในวันที่ 18 มีนาคม 2559 หลังจากนั้นก็จะเร่งเสนอปลัดกระทรวงศึกษาธิการและ รมว.ศธ.ให้ความเห็นชอบต่อไป” เลขาฯ ก.ค.ศ.กล่าว
นอกจากนี้ การปรับเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนี้จะต้องให้โอกาสครูที่มีคุณสมบัติอยู่แล้ว เช่น ครูที่มีคุณสมบัติที่สามารถสอบคัดเลือกเป็น ผอ. รอง ผอ. ได้ตามหลักเกณฑ์เดิม แต่เมื่อมีหลักเกณฑ์ใหม่ไม่สามารถสมัครได้ระยะหนึ่ง ทั้งนี้ สำหรับคุณสมบัติของครูที่จะสามารถสอบเป็นผู้อำนวยการได้ ที่ผ่านมาจะต้องมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการ ซึ่งสำหรับวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ครูจะต้องเข้ามาดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย 8 ปี ก็จะได้เป็นครูชำนาญการ แต่หากเป็นวุฒิปริญญาโทจะลดเหลือ 6 ปี วุฒิปริญญาเอกเหลือ 4 ปี ดังนั้นในเกณฑ์มาตรฐานใหม่คงจะต้องมีการกำหนดในเรื่องของระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งของครูด้วย ส่วนการได้มาในวิทยฐานะก็ยังคงเป็นไปตามเดิม.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 2 มีนาคม 2559