สาเหตุที่ข้าราชการผิดชำระเงินกู้เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นเงินที่ให้เปล่า โดยจำนวนนี้มีข้าราชการของกระทรวงการคลังกว่า 1,000 ราย ระดับซี 8, ซี 9 กระจายอยู่ในกรมสรรพากรมากที่สุด
ในยุคข้าวยากหมากแพงการก่อหนี้เกิดขึ้นได้ง่าย ทั้งการกู้เงินมาใช้ในชีวิตประจำวัน, นำไปประกอบอาชีพ หรือเพื่อใช้ในการศึกษาเล่าเรียน แต่เมื่อเป็นหนี้แล้วก็ต้องใช้คืน โดยเฉพาะในโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่เป็นหนี้มหากาพย์ที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักเรียนนักศึกษาที่กู้ยืมไม่ยอมใช้หนี้นั่นเอง ส่วนใหญ่มาจากการใช้เงินเกินตัวหรือบริหารเงินไม่เป็นคิดว่าการกู้เงินมาใช้ก่อนนั้นง่ายไม่ใช่ปัญหา โดยเฉพาะการกู้ยืมจาก กยศ. ที่นักเรียนนักศึกษาสนใจกู้จำนวนมาก ขณะเดียวกันกลับไม่ชำระหนี้ตามกำหนด เนื่องจากคิดกันเองว่า “มีคนจำนวนมากที่ไม่จ่ายหนี้คืน”
อย่างไรก็ตามถ้าไม่ใช้หนี้เพราะไม่มีงานทำยังพอเข้าใจได้ แต่ถ้ามีหน้าที่การงานมั่นคงแล้ว ยิ่งต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการคืนเงินเพื่อเปิดโอกาสให้รุ่นลูกรุ่นหลานมีเงินทุนไว้ใช้เรียนต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของแนวคิด นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการกองทุน กยศ. ที่ลงนามร่วมกับทุกกระทรวงเพื่อให้ข้าราชการที่ผิดสัญญาชำระเงินกู้กับ กยศ. ทั้งประเทศกว่า 66,000 ราย มาเข้ารับการปรับโครงสร้างหนี้
จากข้อมูลปัจจุบัน กยศ. มีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กรอ.) ที่ค้างชำระเงินกู้ยืมเมื่อสิ้นเดือน ธ.ค. 58 ประมาณ 173,000 ราย และในจำนวนนี้ได้ปิดบัญชี 36,000 ราย, ไม่ค้างชำระหนี้ 71,000 ราย ส่วนอีก 66,000 ราย ยังค้างชำระอยู่หรือคิดเป็น 38% ทางกองทุนฯ ได้ส่งข้อมูลของผู้กู้ยืมให้แต่ละกระทรวงเพื่อจูงใจและกระตุ้นให้ข้าราชการสามารถใช้หนี้คืนได้ง่าย
สาเหตุที่ข้าราชการผิดชำระเงินกู้เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นเงินที่ให้เปล่า โดยจำนวนนี้มีข้าราชการของกระทรวงการคลังกว่า 1,000 ราย ระดับซี 8, ซี 9 กระจายอยู่ในกรมสรรพากรมากที่สุด ดังนั้นจะเปิดให้ข้าราชการเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ถึง 30 ก.ย.นี้ หากพ้นกำหนดแล้วจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้หน่วยงานราชการปลอดการทุจริตคอร์รัปชั่น
ทั้งนี้การดำเนินการตามความสมัครใจโดยให้ข้าราชการเข้าร่วมโครงการ ด้วยการหักเงินจากบัญชีเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ทันที และได้รับการปรับโครงสร้างชำระหนี้ตามความเหมาะสมและไม่เดือดร้อน หรือกรณีที่จ่ายเงินคืนทั้งก้อนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษให้ เช่น มีเงินคืนบางส่วน แต่รายใดที่ไม่เข้าโครงการและไม่ชำระหนี้คืนก็ถือว่ามีความผิด มีโทษตามระเบียบราชการ นอกจากนี้ได้เชิญชวนองค์กรนายจ้าง ทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินให้แก่บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระเงินคืนกองทุน
นอกจากนี้เงินที่ชำระคืนนี้จะหมุนเวียนกลับเข้ามาในระบบแล้วเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษารุ่นต่อไปได้ใช้ การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่สร้างความรับผิดชอบให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมชำระหนี้คืนในโครงการ “กยศ.กรอ.เพื่อชาติ” พร้อมมีมาตรการจูงใจในสังกัดองค์กรนายจ้างที่เข้าร่วมโครงการจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 59
ทั้งนี้องค์กรนายจ้างสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุนไม่ให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อีกทั้งยังมีส่วนร่วมเพื่อช่วยให้บุคลากรมีวินัยทางการเงินและจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม หากผู้กู้ยืมยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนสำหรับผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระ เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้วจะได้เงินคืน 1% ของเงินต้นคงเหลือ แต่หากผู้กู้ที่ค้างชำระยินยอมชำระหนี้เป็นปกติจะได้ลดเบี้ยปรับ 100% หรือหากไม่สามารถชำระหนี้ให้เป็นปกติได้ ทางกองทุนจะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ให้กับผู้กู้ยืมพร้อมลดเบี้ยปรับ 50% และมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญา
ปัจจุบันกองทุนปล่อยกู้ไปแล้ว 4.5 ล้านราย เป็นเงิน 400,000 ล้านบาท มีค้างชำระ 2 ล้านราย เป็นเงิน 56,000 ล้านบาท, ค้างทั่วไปมีการชำระบ้างไม่ชำระบ้าง 1.2 ล้านราย 13,000 ล้านบาท, การค้างชำระที่อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ย 100,000 ราย 7,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง 700,000 ราย 35,000 ล้านบาท ส่วนแผนในปี 59 นั้นตั้งเป้าปล่อยกู้ให้เด็กกว่า 670,000 ราย คิดเป็นวงเงินปล่อยกู้ 27,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ในปี 59 กยศ. ยังได้ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ต้องมีผลการเรียนขั้นต่ำ 2.0 และทำการบำเพ็ญประโยชน์ 36 ชั่วโมง เป็นไปตามนโยบายของ คสช. ที่ต้องการให้การปล่อยกู้มีความเข้มงวดเพื่อคัดกรองเด็กที่มีคุณภาพไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เชื่อว่ายังมีเด็กยากจนแต่เรียนดีจำนวนมากและเกรดเฉลี่ยที่กำหนดไม่ถือว่ามากเกินไป กรณีที่เด็กเกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.0 สามารถเปลี่ยนไปเรียนสายอาชีพได้อีกช่องทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามการติดตามการชำระคืนเงินกู้ กยศ. ในปี 59 ตั้งเป้าหมายทำให้ได้ขั้นต่ำ 19,000 ล้านบาท จากปี 58 ชำระคืน 17,000 ล้านบาท จากการออกมาตรการส่งเสริมการชำระหนี้คืน
ดังนั้นจากนี้คงต้องจับตามาตรการที่จะดึงข้าราชการที่ผิดสัญญาชำระเงินกู้กับ กยศ. ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน.
วุฒิชัย มั่งคั่ง
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 มีนาคม 2559