เป็นเวลาถึง 70 ปีมาแล้ว ที่ “คุรุสภา” ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพครู อันเป็นอาชีพอันทรงเกียรติให้มีมาตรฐานและคุณภาพสูงสุด ด้วย “ครู” ไม่ได้มีหน้าที่เพียงเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ แต่ยังแบกภาระอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ “การสร้างคน”
วันที่ 2 มีนาคม 2559 “สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา” จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 71 ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ได้พาย้อนเวลาทำความรู้จัก “คุรุสภา” โดยสังเขปว่า คุรุสภาในยุคแรก ถือกำเนิดจากความมุ่งมั่น ตั้งใจของครู ที่อยากหาสถานที่เพื่อรวมตัวแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพครู จึงก่อเกิด “วิทยาทานสถาน” ขึ้นราวปีพ.ศ.2438 แต่ช่วงเวลาสำคัญที่สุดคือในปีพ.ศ.2488 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนายทวี บุญเกตุ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ มีการออกพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 โดยให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า “คุรุสภา” เพื่อทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาและรักษานโยบายด้านการศึกษาของชาติ ช่วยเหลือฐานะครู รวมทั้งทำหน้าที่บริหารงานบุคคลครูแทนหน่วยงานของรัฐ ภายใต้หลักการ “ครูปกครองครู”
ถัดมาในปีพ.ศ.2523 เข้าสู่ยุคที่ 2 บทบาทของคุรุสภาจะเน้นไปในเรื่องการดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพครูมากขึ้น แต่บทบาทในการพัฒนาครูลดลง ขณะที่ยุคที่ 3 ประมาณปี 2546 แยกหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสวัสดิการครูออกจากคุรุสภา ทำให้บทบาทของคุรุสภาในการทำหน้าที่เป็น “สภาวิชาชีพ” กลับมาชัดเจนอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นดูแลเรื่องมาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณของวิชาชีพ และการส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพครู ภายใต้หลักการ “ครูดูแลครู”
“มาถึงยุคปัจจุบันและการก้าวสู่ปีที่ 71 ของคุรุสภา มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพครู สู่คุณภาพการศึกษาไทย โดยหลักการบริหารและขับเคลื่อนการทำงานจากนี้ ผมจะยืนหยัดใน 3 หลักสำคัญ คือ การดูแลมาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพ และการส่งเสริมพัฒนาอาชีพครู ดังนั้นในช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของคุรุสภาอีกครั้งหนึ่ง และจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำงานใหม่ให้สะท้อนการเป็นสภาวิชาชีพมากขึ้น บนพื้นฐานของวิชาการ ภายใต้โจทย์ว่า ทำอย่างไรคุรุสภาจึงจะเป็น สภาของมืออาชีพ ได้อย่างแท้จริง” ดร.ชัยยศ ย้ำถึงเป้าหมายการขับเคลื่อนงาน
ดร.ชัยยศ กล่าวว่า ในเรื่องการดูแลมาตรฐานวิชาชีพครูทั้ง 9 มาตรฐานซึ่งเชื่อมโยงกับการอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ดังนั้นคุรุสภาต้องดูแลให้ครูทุกกลุ่มเข้าถึงและผ่านตามมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนด กลุ่มแรก คือ ผู้ที่เป็นครูมาก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 และกลุ่มที่ 2 คือ ครูรุ่นใหม่ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ คุรุสภาได้จัดส่งมาตรฐานวิชาชีพไปให้มหาวิทยาลัย เพื่อสามารถออกแบบและจัดการสอนได้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ทั้งนี้ กรณีเรียนหลักสูตร 4 ปีก็ต้องมาทำการเทียบโอนมาตรฐาน หากไม่ผ่านมาตรฐานใดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการอบรม หรือเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต กับมหาวิทยาลัยที่คุรุสภารับรอง หรือเข้ารับการสอบในแต่ละมาตรฐาน แต่เรื่องการสอบนั้น เวลานี้อยู่ระหว่างจัดทำระบบการสอบและคลังข้อสอบใหม่ โดยคุรุสภาตั้งใจจะพัฒนาให้ระบบการสอบไม่ใหญ่เกินไป
“จากข้อมูลพบว่าคุรุสภาอนุมัติใบอนุญาตฯไปแล้วกว่า 1 ล้านใบ แต่ละเดือนยังมีผู้ยื่นขอใบอนุญาตฯเฉลี่ยเดือนละเกือบ 2,000 คน สะท้อนว่ามีคนต้องการเป็นครูมากขึ้น เพราะฉะนั้นต่อไปคุรุสภาจะเพิ่มความเข้มข้นในการคัดกรองคนที่จะมาเป็นครูมากขึ้น โดยเฉพาะได้ประสานกับมหาวิทยาลัยว่าก่อนที่สภามหาวิทยาลัยจะมีการอนุมัติหลักสูตรทางการศึกษา ขอให้หารือกับคุรุสภาในฐานะสภาวิชาชีพได้ตรวจสอบก่อนว่า หลักสูตรสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพตามที่คุรุสภากำหนดหรือไม่ รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ อาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ สถานที่จัดการเรียนการสอน สำคัญที่สุดคือ สถานที่ในการปฏิบัติการฝึกสอนของนักศึกษา ขณะเดียวกันคุรุสภาก็จะติดตามสุ่มตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนในบางพื้นที่ เพื่อให้รู้ชัดว่ามหาวิทยาลัยนั้นๆ ผลิตครูคุณภาพ ตรงความต้องการแท้จริง” ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าว
ขณะที่การดูแลจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้น ได้มีการกำหนดกติกาและแนวทางในการพิจารณาการกระทำในแต่ละกรณี อาทิ การลงโทษเด็กเกินกว่าเหตุ ทุจริต การชู้สาว ฯลฯ หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง ในกรณีที่เป็นความผิดร้ายแรงนอกจากถูกลงโทษทางวินัยแล้ว ในทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ครูอาจจะถูกพักใบอนุญาตฯ หรือเพิกถอนใบอนุญาตด้วย ทั้งนี้ คุรุสภาให้ความสำคัญในการควบคุมจรรยาบรรณของวิชาชีพเป็นอย่างมาก เพราะหากครูต้องการได้รับการยอมรับว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ก็จะต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบมาตรฐาน และจรรยาบรรณของวิชาชีพ ตระหนักและยึดมั่นในจรรยาบรรณของวิชาชีพของตนด้วย
ในเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ดร.ชัยยศ ระบุว่า ที่ผ่านมาคุรุสภามีการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ล่าสุดร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 18 แห่ง ในการสนับสนุนกองทุนการศึกษา ให้มหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้มีคุณภาพ ส่วนนี้ถือเป็นความท้าทายและทำให้นักศึกษาและมหาวิทยาลัยได้รู้และสัมผัสบรรยากาศในการพัฒนาการจัดการสอนได้อย่างแท้จริง และเป็นโมเดลให้มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนอื่นๆ นำไปพัฒนาในอนาคตได้
“ยังมีหลายเรื่องที่จะต้องดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ อาทิ การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ในเรื่องการได้มาซึ่งคณะกรรมการคุรุสภา วิธีการคัดเลือก รวมถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการคุรุสภา โดยให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับอื่นที่ ศธ.ใช้อยู่ เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ. พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น ขณะเดียวกัน เวลานี้มีการรวมตัวในประชาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดการเลื่อนไหลของแรงงานต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพครูก็มีโอกาสจะไปสอนในประเทศกลุ่มอาเซียนได้ ดังนั้นคุรุสภาจึงได้ร่วมกับซีมีโอกำหนดกรอบมาตรฐานวิชาชีพครูอาเซียน ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ” ดร. ชัยยศ กล่าว
ในตอนท้าย ดร.ชัยยศ ย้ำด้วยว่า สำหรับเรื่องขวัญและกำลังใจแก่ครูที่ทำดีและทุ่มเทเสียสละ ในการพัฒนาเด็กนั้น คุรุสภามีการมอบรางวัลมากมาย ทั้งรางวัลคุรุสดุดี รางวัลครูดีเด่นกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น รางวัลครูภาษาฝรั่งเศสดีเด่น และล่าสุด รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ที่มอบให้ครูในอาเซียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 คน โดยได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฯลฯ ซึ่งรางวัลเหล่านี้สามารถการันตีถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานของครูในการทำงานอย่างเต็มที่ด้วย
ที่มา คม ชัด ลึก วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559