จากความสำเร็จในการถ่ายทอดแนวคิด Constructionism ของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ สู่ทุกภาคส่วนในสังคม ส่งผลให้นานาชาติมีความสนใจต่อโครงงานและกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ จึงทำให้ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ Constructionism 2016 เมื่อไม่นานผ่านมา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนานาประเทศเกี่ยวกับรูปแบบและแนวทางการนำแนวคิด Constructionism มาใช้พัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
โดยมี "พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา" ประธานมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และผู้อำนวยการโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Constructionism ในประเทศไทย กล่าวถึงการจัดงาน Constructionism 2016 พร้อมกับยกตัวอย่างการใช้แนวคิด Constructionism ในประเทศไทย และ "ลีดา มูโนส" Executive Director มูลนิธิ Omar Dengo จากประเทศคอสตาริกา มาพูดถึงเรื่องการใช้แนวคิด Constructionism ในภาคการศึกษาของประเทศคอสตาริกา เป็นต้น
"พารณ" กล่าวว่า งานสัมมนาวิชาการนานาชาติ Constructionism 2016 ที่ประเทศไทย เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเวที Constructionism เป็นการประชุมระดับโลกที่จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดยรวบรวมกรณีศึกษาและโครงงานที่คิดค้นโดยบุคลากรด้านการศึกษาจากสถาบันชั้นนำ อาทิ MIT, Stanford, Berkeley, University of London และองค์กรด้านการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไรจากประเทศคอสตาริกา, สโลวาเกีย และอังกฤษ มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดการเรียนการสอนที่เป็นการพัฒนากระบวนการคิดของเด็กอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งนั้นเพื่อเผยแพร่ประโยชน์ของหลักการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญาที่สามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ให้สูงขึ้นได้
ทฤษฎีคอนสตรัคชั่นนิสซึ่ม(Constructionism)หรือทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา เป็นทฤษฎีทางการศึกษาที่พัฒนาขึ้นโดย ศาสตราจารย์ซีมัวร์ พาเพิธ แห่ง M.I.T. (Massachusette Institute of Technology) เป็นศาสตร์การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ถูกใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงการศึกษาของต่างประเทศมานานกว่า 40 ปี ให้ความสำคัญกับโอกาส และวัสดุที่จะใช้ในการเรียนการสอน ที่ผู้เรียนสามารถนำไปสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนเองได้
"ไม่ใช่มุ่งสอนแผนการป้อนความรู้ให้กับผู้เรียน แต่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ดำเนินกิจกรรมการเรียนด้วยตนเอง มีทางเลือกที่มากขึ้นโดยการลงมือปฏิบัติ หรือสร้างงานที่ตนเองสนใจ และสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาเองโดยการผสมผสานระหว่างความรู้เดิมกับความรู้ใหม่"
เนื่องจากเป็นวิธีการเรียนแบบการสอนน้อย(TeachLess) เรียนรู้ด้วยตนเองมาก (Learn More) ด้วยการปฏิบัติจริงผ่านโครงงานที่ผู้เรียนสนใจ ทำให้ผู้เรียนรักการเรียนรู้ และตระหนักว่าการเรียนรู้เชิงประจักษ์นั้นมีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
"โดยมูลนิธิศึกษาพัฒน์จึงนำหลักConstructionismมาใช้เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ของดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ อย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 2544 และขยายไปสู่โรงเรียนเครือข่ายอีก 6 แห่ง ซึ่งการจัดกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตต่อไป"
ดรุณสิกขาลัยโรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ จัดตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือระหว่างมูลนิธิไทยคม มูลนิธิศึกษาพัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ The Media Lab of MIT เป็นโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาที่มีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ของโลกยุคโลกาภิวัตน์ ปัจจุบันที่นี่มีนักเรียนกว่า 100 คน ดำเนินการสอนทั้งแบบภาษาไทยและอังกฤษ
โดยมีกระบวนการ 3 ขั้นตอน ที่ถูกออกแบบให้หมุนเวียนในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง คือ Thinking or Designing คิดและออกแบบด้วยตนเอง, Making or Doing นักเรียนจะต้องเป็นผู้ลงมือทำด้วยตนเอง มีความเป็นเจ้าของในสิ่งที่ตนเองสร้าง ซึ่งอาจเริ่มเรียนรู้จากสิ่งที่ผู้เรียนมีความสนใจหรือจากปัญหา โดยมี Facilitator หรือผู้อำนวยการเรียนรู้เป็นผู้คอยชี้แนะ และ Reflecting or Contemplating นักเรียนได้ฝึกฝนสะท้อนความคิด ระลึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ทำให้เกิดความตระหนักในสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้เรียนรู้เชิงประจักษ์ (เห็นได้ด้วยตนเอง) ว่าตนเรียนรู้ได้อย่างไร และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไร
นอกจากนี้มูลนิธิศึกษาพัฒน์ยังเผยแพร่และต่อยอดแนวคิด Constructionism สู่ภาคสังคมผ่าน "โครงการจัดการหนี้สิน" เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งถ่ายทอดแนวคิดสู่ภาคอุตสาหกรรมผ่านโครงการพัฒนาบุคลากรแบบ Constructionism ที่เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้บุคลากรในองค์กร ผ่านการฝึกอบรมแบบโครงการจริง ช่วยส่งเสริมให้บุคลากรมีความสามารถในการเรียนรู้ เกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน สามารถคิดค้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้
ขณะที่ "ลีดา มูโนส" พูดถึงเรื่องการใช้แนวคิด Constructionism ในภาคการศึกษาของประเทศคอสตาริกาว่า ประเทศคอสตาริกาเป็นประเทศเล็ก ๆ เป็นประเทศในภูมิภาคอเมริกากลาง และเมื่อ 29 ปีที่แล้วประเทศคอสตาริกาตัดสินใจนำแนวคิด Constructionism มาผนวกกับการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์แก่โรงเรียนประถมศึกษาของรัฐบาล เพื่อสอนให้เด็ก ๆ มีกระบวนการคิดด้วยตนเอง และสร้างความร่วมมือกันในการเรียนรู้
"เราเริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอนที่แตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่นๆโดยใช้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา แทนที่จะเน้นการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้สอนทักษะสายอาชีพให้แก่เด็กนักเรียนในชั้นโตกว่าเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานซึ่งการบูรณาการวิธีสอนที่มาจากแรงบันดาลใจของทฤษฎีConstructionism เข้ากับการใช้คอมพิวเตอร์เป็นการเน้นการพัฒนาทักษะเชิงสติปัญญาให้แก่เด็กเป็นสำคัญ เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เราประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ และขยายรูปแบบนี้ไปสู่โรงเรียนในประเทศกว่า 2,500 แห่ง"
ที่ไม่เพียงจะช่วยทำให้เราก้าวกระโดดจากประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการเกษตร เข้าสู่ยุคสารสนเทศทันที ยังสามารถดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศในด้าน IT เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระยะหลัง ๆ โดยเฉพาะยิ่งจากผู้ผลิตชิปรายใหญ่อย่าง Intel ซึ่งในปี 1998 ได้เลือกคอสตาริกาเป็นที่ตั้งโรงงานแห่งแรกของตนในภูมิภาคละตินอเมริกา
นับว่า Constructionism เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้ในหลาย ๆ ประเทศประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559