ปลัด ศธ.ระบุครูส่วนใหญ่กู้เงินและใช้หนี้ได้ตามปกติ แฉสาเหตุครูเป็นหนี้ขั้นวิกฤติส่วนใหญ่เพราะกู้เงินไปลงทุน แต่ไม่มีประสบการณ์ทำให้เสี่ยงขาดทุนสูง “ดาว์พงษ์”เตรียมนัดถกแหล่งปล่อยกู้หาแนวทางป้องกันปัญหาซ้ำรอย
วันนี้ (25 ก.พ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวถึงการดำเนินโครงการลดภาระหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ขณะนี้ทางธนาคารออมสินยังไม่ได้รายงานความคืบหน้ามายัง ศธ. ว่า มีครูสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนเท่าใด แต่เท่าที่สอบถามในภาพรวมครูก็เห็นว่าเป็นมาตรการที่ดี และกลุ่มที่เป็นหนี้วิกฤติส่วนใหญ่น่าจะสนใจเข้าร่วม ส่วนที่มีคนออกมาระบุว่า หากรัฐบาลจริงใจจะช่วยครู ก็ควรลดดอกเบี้ยให้เหลือ4% เท่ากันทั้งหมดนั้น ตนก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะข้าราชการอื่น ๆ ก็เป็นหนี้เหมือนกัน ถ้าจะลดให้ครูก็ต้องลดให้ทั้งระบบ อย่างไรก็ตามแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครูนั้น ความจริงแล้วต้องกลับมาดูสาเหตุว่า ทำไมครูถึงเป็นหนี้ เช่น ปล่อยกู้ง่ายเกินไป ครูใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือ ไม่รู้จักการทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น
"กลุ่มที่เป็นปัญหาจริง ๆ คือ กลุ่มลูกหนี้ขั้นวิกฤติ ซึ่งจากที่ผมสอบถามแหล่งเงินกู้ ทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ และอื่นๆ ก็พบว่า ครูส่วนใหญ่กู้เงิน และใช้หนี้ได้ตามปกติ เพราะปัจจุบันเงินเดือนครูก็ไม่ได้น้อย แต่กลุ่มที่ใช้หนี้ไม่ได้จนเข้าขั้นวิกฤติส่วนใหญ่เพราะกู้เงินไปลงทุน ซึ่งเมื่อลงทุนโดยที่ไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจจึงมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูง" รศ.นพ.กำจร กล่าว
ปลัดศธ. กล่าวต่อไปว่า ในเร็วๆ นี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ จะนัดพูดคุยกับสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ทุกแห่ง เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยในส่วนของสวัสดิการครู ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครูต้องเป็นหนี้นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)ไปดูว่า จะให้ความช่วยเหลือเรื่องเรื่องใดเพิ่มเติมได้บ้าง โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ทั้งตนเอง บุตร และบุพการี ซึ่งยาบางตัวไม่สามารถเบิกได้ เพราะไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559