นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้บริหาร 3 สมาคมท้องถิ่น ประกอบด้วยสมาคม อบต., สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ได้สำรวจผลกระทบจากการขึ้นเงินเดือน 4% ให้กับข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นทั่วประเทศตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งส่งผลกระทบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
บางแห่งมีการคำนวณรายจ่ายประจำเกิน 40% ตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ทั้งนี้หลังผลสำรวจเสร็จสิ้นจะยื่นข้อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณายกเว้นการใช้ระเบียบดังกล่าว เพื่อไม่ให้ อปท.ขนาดเล็กรายได้น้อยมีผลกระทบกับรายจ่ายประจำ เนื่องจากที่ผ่านมา อปท.ได้รับงบอุดหนุนรายปีเท่าเดิม
นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายก ส.ท.ท. กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากเทศบาลทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบรายจ่ายประจำจากการปรับขั้นเงินเดือน 4% และการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เพื่อไม่ให้มีวงเงินเกินจากที่กฎหมายกำหนดจะต้องลดจำนวนพนักงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเพื่อจ้างพนักงานในลักษณะการจ้างเหมาบริการ ไม่มีเงินประกันสังคม ยอมรับว่าปัญหานี้มีผลกระทบกับขวัญและกำลังใจพอสมควร รวมทั้งมีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ที่ขาดโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่นตามแผนงานที่กำหนด
นายทนงศักดิ์ทวีทอง นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี อดีต สปช.ท้องถิ่น กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องให้ยกเว้นการใช้ระเบียบแต่ยังไม่มีความคืบหน้า และการขึ้นเงินเดือนล่าสุดทำให้ อปท.ที่มีรายจ่ายประจำใกล้วงเงิน 40% ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และเพื่อไม่ให้มีการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย อปท.บางแห่งต้องจับสลากขอให้พนักงานลาออก เพื่อลดวงเงินค่าใช้จ่ายประจำ
นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เข้าพบอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อชี้แจงปัญหาให้รับทราบและเร่งรัดเพื่อดำเนินการแก้ไข แต่ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน และมีการกล่าวหาว่า อปท.จ้างบุคลากรมากเกินความจำเป็น ส่วนการขยายเพดานรายจ่ายประจำให้เกินร้อยละ 40 ก็มองว่าจะทำให้มีผลกระทบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559