คอลัมน์ ชีพจรครู
เรื่องราวที่จะนำมาบอกเล่าเก้าสิบให้เพื่อนครูได้ฟังใน "ชีพจรครู" ฉบับนี้ ไม่รู้จะเรียกว่า "ข่าวดี" หรือ "ข่าวร้าย" กันแน่ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ โครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ธนาคารออมสินจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ให้กับผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ แต่เป็นการใช้เงินที่ทายาทจะได้รับในอนาคตเพื่อค้ำประกัน ทั้งเงินกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) หรือเงินบำเหน็จตกทอด นำมาขอเงินสินเชื่อใหม่ เพื่อลดภาระหนี้ หรือปิดบัญชีหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ
ที่บอกว่าไม่รู้ข่าวดี หรือข่าวร้าย เพราะแม้กระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะยืนยันว่ามาตรการนี้ จะช่วยลดภาระหนี้สินของครูได้จริง โดยธนาคารออมสินจะเปิดให้กลุ่มครูที่เป็นหนี้กับธนาคารกว่า 4.7 แสนคน วงเงิน 4.74 แสนล้านบาท หรือหนี้ประมาณรายละ 1 ล้านบาท ลงทะเบียนเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เดิม โดยเงินที่ได้รับจะไม่เกินกว่าหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารออมสิน และจะลดดอกเบี้ยให้เหลือเพียง 4% ตลอดอายุสัญญา จากปัจจุบัน 6-7%
ขณะที่ นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ระบุว่า เบื้องต้นธนาคารกำหนดให้ครูที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ระยะเวลากู้ 20 ปี อายุผู้กู้ และอายุสัญญากู้ รวมกันไม่เกิน 75 ปี ที่สำคัญทายาทต้องเซ็นยินยอมให้ธนาคารรับเงินค่าสงเคราะห์รายศพ ช.พ.ค.ก่อน
"การใช้เงิน ช.พ.ค.มารีไฟแนนซ์ จะคิดจากฐานปัจจุบันที่ทายาทจะได้รับเมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม ซึ่งอยู่ที่ 950,000 บาท มาตั้งเป็นวงเงินรีไฟแนนซ์ สูงสุดรายละไม่เกิน 700,000 บาท แบ่งเป็น 2 ส่วน อาทิ สมาชิกเป็นหนี้ 350,000 บาท เมื่อเข้าร่วมโครงการ ธนาคารจะหักเงินต้นส่วนแรกทันที 350,000 บาท และส่วนที่จะคิดเป็นดอกเบี้ย 4% ต่อปี ตลอดอายุการกู้ 20 ปี รวมกับเงินค่าสมาชิก ช.พ.ค.ระยะ 20 ปี ซึ่งปัจจุบันครูต้องจ่ายเงินค่าสมาชิก ช.พ.ค.เดือนละประมาณ 600 บาท จะต้องถูกหักทันที ดังนั้น เมื่อครูเข้าร่วมโครงการ จะถือเป็นการหักเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารไปแล้ว ถ้าครูมีหนี้เงินต้นลดน้อยลง จะทำให้การผ่อนชำระหนี้ส่วนที่เหลือลดลง แต่หนี้ส่วนที่เหลือยังคงต้องผ่อนชำระในอัตรา 6.5-6.7% ต่อปี โดยครูที่เข้าร่วมโครงการจะยังได้รับเงินค่าจัดการศพจาก ช.พ.ค. 200,000 บาท และถ้ามีเงินส่วนต่างเหลือจากที่ใช้หนี้ธนาคาร ก็จะคืนให้ทายาท" นายพินิจศักดิ์กล่าว
เรื่องนี้มีผู้รู้อธิบายให้ฟังแบบง่ายๆ ว่า เงินที่ทายาทจะได้รับเมื่อสมาชิกถึงแก่กรรมอยู่ที่ประมาณ 950,000 บาท แต่จะนำมาตั้งเป็นวงเงินรีไฟแนนซ์สูงสุดรายละไม่เกิน 700,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ธนาคารจะไม่ทำสัญญาให้กู้ในอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปีทั้ง 700,00 บาท เพราะจะต้องคำนวณว่าเงินจำนวนนี้เมื่อคิดดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลา 20 ปีแล้ว จะคิดเป็นเงินต้นที่ธนาคารจะคิดดอกเบี้ย 4% ต่อปีเท่าไหร่ ซึ่งอาจเหลือเงินต้นสำหรับตั้งเป็นรีไฟแนนซ์เพียง 2-3 แสนบาทเท่านั้น ฉะนั้น หากครูเป็นหนี้อยู่ 1 ล้านบาท หนี้ที่เหลืออีก 7-8 แสนบาท จะยังต้องผ่อนชำระในอัตรา 6.5-6.7% ต่อปีเหมือนเดิม
มาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ ว่าธนาคารออมสิน "ไม่" จริงใจที่จะช่วยลดภาระหนี้สินครูจริง เพราะถ้าต้องการช่วยเหลือครูจริงๆ ควรประกาศลดดอกเบี้ยไปเลย โดยไม่ต้องนำเงินในอนาคตมาตั้งเป็นวงเงินค้ำประกันเพื่อรีไฟแนนซ์ใหม่
ที่สำคัญ มองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะเป็นการให้วงเงินกู้ใหม่มาใช้หนี้เก่าในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สุดท้ายก็จะวนกลับไปสู่ปัญหาเก่าๆ ที่เพื่อนครูบางส่วนยังคงฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย แทนที่จะช่วยปลดหนี้ กลับเพิ่มภาระหนี้ และกลายเป็นการสร้างภาระให้ลูกหลานในอนาคตอีกด้วย
ซึ่งบรรดาแม่พิมพ์หลายรายฟันธงว่า การนำเงิน ช.พ.ค.มาค้ำประกันเงินกู้รีไฟแนนซ์ครั้งนี้ คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือ "ธนาคาร" เพราะจะลดตัวเลขหนี้สูญของธนาคารได้
ขณะที่ครูที่ได้ประโยชน์จริงๆ จากมาตรการนี้ มีเพียงหยิบมือเดียว!!
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559