'ดาว์พงษ์' ลั่นปลดล็อก !! ปฏิรูปการศึกษาไทย - 1 ปีครึ่งเห็นผล : โดย...เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ
เป็นเวลากว่า 5 เดือนที่ “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ บริหารงานในตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” ได้เผย “ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ” ที่ต้องเร่งเดินเครื่องเพื่อแก้ปัญหา ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยในช่วงเวลา 1 ปี 6 เดือนต่อจากนี้ อย่างชัดเจน หนักแน่น สไตล์ทหาร ผ่านรายการ “ไทม์ไลน์” โดย “สุทธิชัย หยุ่น”
เคาะ33ปัญหาเดินหน้า65โครงการ
“เวลานี้สรุปได้ว่ามี 6 เรื่องหลักที่ต้องแก้ไขคือ 1.หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ 2.การผลิตและพัฒนาครู 3.การทดสอบการประเมินการประกันคุณภาพและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา 4.ผลิต พัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศไทย 5.ไอซีทีเพื่อการศึกษา และ 6.การบริหารจัดการทั้งการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการและการกระจายอำนาจ ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้คิดเองแต่ได้มาจากคนที่รักการศึกษาได้เสนอแนะส่งข้อมูลมาให้
ใน 6 เรื่องนี้พบว่ามีปัญหาที่ซ่อนอยู่ถึง 33 เรื่อง ก็นำมาวางแผนจัดเรียงใหม่เกิดเป็นแผนงานถึง 65 โครงการ ในจำนวนนี้ 16 โครงการได้เดินหน้าและเริ่มเห็นผลสัมฤทธิ์บางส่วนแล้ว ส่วนอีก 37 โครงการกำลังทยอยดำเนินการ สุดท้ายอีก 12 โครงการจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึงแม้จะทำได้ไม่สมบูรณ์ 100% แต่ทุกโครงการจะต้องเกิดการขับเคลื่อน อย่างไรก็ตามทุกโครงการนำหลักอริยสัจ 4 มาเป็นหลักคิด เพื่อให้รู้ปัญหา สาเหตุของปัญหา กำหนดแนวทางทำงาน และวิธีการที่จะใช้แก้ปัญหาในทุกกระบวนการได้ผ่านการพูดคุยวางแผนร่วมกับข้าราชการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
ลดเวลาเรียนพบเด็กมีความสุข
จากปัญหาเด็กเรียนมากเกินไป ไม่มีความสุข ผลสัมฤทธิ์ต่ำและกวดวิชา เกิดเป็นนโยบายแรก “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” พล.อ.ดาว์พงษ์ ชี้แจงว่า นโยบายนี้ถ้าจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดียังมีเรื่องต้องทำอีกมาก เบื้องต้นที่ได้นำร่องใน 3,800 โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 กำหนดให้ช่วงเวลา 14.00 น.เป็นต้นไป เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่สนใจและเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยตามหลัก 4H คือ การพัฒนาสมอง การคิดวิเคราะห์ (Head) พัฒนาจิตใจ คุณธรรมจริยธรรม (Heart) ทักษะฝีมือ (Hand) และสุขภาพ (Health) และกระทรวงมีเมนูมอบให้โรงเรียนนำไปเลือกใช้ 300 เมนู ภาพรวมพบว่าเด็กมีความสุขมาก ส่วนครูช่วงแรกก็มีวิตกกังวลเพราะต้องปรับบทบาทจากครูผู้สอนมาเป็นโค้ชคอยให้คำแนะนำ ซึ่งเราได้จัดทีมสมาร์ทเทรนเนอร์ลงไปช่วยอบรมและจัดทำคู่มือการสอนให้ เวลานี้ครูจึงเริ่มปรับตัวได้ที่สำคัญนโยบายนี้ห้ามไม่ให้ครูใช้เวลาดังกล่าวสอนพิเศษโดยเรียกเก็บเงินในโรงเรียนเด็ดขาด
สำหรับผู้ปกครอง ยังค่อนข้างกังวลว่าเมื่อลดเวลาเรียนลูกจะมีความรู้ไม่เข้มข้นพอและไปสอบสู้เด็กคนอื่นๆ ไม่ได้ ซึ่งได้ทำความเข้าใจกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้ออกข้อสอบแล้วว่าการเรียนการสอนยังยึดตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นการออกข้อสอบจะต้องสอดคล้องตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตรงนี้ขอให้ผู้ปกครองมั่นใจได้
ยกเครื่องระบบประเมินศึกษา
ล่าสุดที่เป็นปัญหาคือการประกาศผลสอบ 9 วิชาสามัญของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งต้องนำไปยื่นในการเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ ปรากฏว่าคะแนนที่ออกมานั้นต่ำกว่าครึ่งของคะแนนเต็ม มีเพียงเฉพาะวิชาภาษาไทยที่เกินครึ่ง แต่จากที่พูดคุยกับสทศ.ก็พบว่ากระบวนการออกข้อสอบต่างๆ อยู่ในกรอบของหลักสูตร เพียงแต่โจทย์ที่ออกค่อนข้างลึกเพราะต้องการให้เด็กได้พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์
เวลานี้มีความเข้าใจตรงกันแล้วว่า ถ้าสทศ.ยังออกข้อสอบแบบนี้ จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาหลงทาง คิดไปว่าหลักสูตรแย่ ครูสอนไม่ดี ซึ่งสทศ.จะต้องปรับตัวใหม่คือต้องทำการทดสอบข้อสอบต่างๆ ก่อนนำไปใช้จริง และให้รายงานผลมาให้กระทรวงทราบ โดยจำแนกรายวิชาและขนาดโรงเรียน รวมทั้งเมื่อเสร็จสิ้นการสอบจะต้องเปิดเผยข้อสอบและเฉลยด้วย คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีการศึกษา 2559 เบื้องต้นเพื่อให้เด็กได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ สทศ.ได้เพิ่มข้อสอบอัตนัยของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) วิชาภาษาไทย ระดับ ป.6 สัดส่วน 20% ด้วย
ที่มาภาพจาก คม ชัด ลึก
ชี้เด็ก80%กวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัย
“เมื่อสทศ.เปิดข้อสอบเด็กก็จะรู้ว่าควรเตรียมตัวอ่านหนังสืออย่างไรบ้าง ครูรู้ว่าต้องสอนและพัฒนาเด็กอย่างไร ตรงนี้จะทำให้ปัญหาการกวดวิชาค่อยๆลดลงและหายไปตามธรรมชาติ กระทั่งครูที่สอนพิเศษในโรงเรียนก็จะค่อยๆลดลง ผมไม่ได้ต่อต้านการกวดวิชา เพียงแต่ในอดีตนั้นการกวดวิชาก็เพื่อรู้เฉพาะเรื่อง แต่ทุกวันนี้ผมกล้าพูดได้ว่ามากกว่า 80% ที่มากวดวิชาไม่ใช่เพราะครูสอนไม่ดี แต่กวดวิชาไปเพื่อสอบเก็บคะแนนใช้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เช่น คะแนนความถนัดทั่วไป หรือ แกต ความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ แพต เป็นต้น ตรงนี้ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ผ่านมาเคยมีผู้ปกครองเสนอให้ยกเลิกการสอบตรงด้วย แต่เรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจและเป็นกังวล คงต้องหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม สำคัญคือระบบการเข้าเรียนอุดมศึกษาไม่เป็นภาระ ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ และไม่ปิดกั้นศักยภาพเด็ก”
เช่นเดียวกับระบบรับนักเรียน สพฐ.ที่ผ่านมามีการเรียกรับ “แป๊ะเจี๊ยะ” เพื่อแลกที่นั่งเด็ก พล.อ.ดาว์พงษ์ ย้ำชัดว่า ที่ผ่านมาถูกถามถึงปัญหาการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ ซึ่งให้นโยบายชัดเจนว่าตลอดกระบวนการรับนักเรียนห้ามไม่ให้มีการเรียกรับเงินหรือรับบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ อาทิ บุตรผู้ทำคุณประโยชน์ข้อตกลงในการจัดตั้ง ฯลฯ ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องประกาศแนวทางวิธีการให้ชัดเจน ทำทุกอย่างโปร่งใสและตอบคำถามกับทุกคนได้ว่ารับเด็กในกลุ่มเงื่อนไขเหล่านี้เพราะเหตุผลอะไร
ควบรวมรัฐ-เอกชนพัฒนาอาชีวะไทย
ส่วนการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษานั้น เรื่องนี้ต้องให้เครดิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญและผลักดันมาตลอด กระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาก็ทำงานเข้มแข็ง ผมเพียงแต่เข้ามาสานต่อ แต่เวลานี้ภาพลักษณ์และค่านิยมต่อการเรียนสายอาชีพดีขึ้นเห็นได้จากจำนวนผู้เรียนอาชีวะในปีการศึกษา 2558 เพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ ระบบทวิภาคีที่รัฐและเอกชนร่วมกันจัดการศึกษามีส่วนช่วยอย่างมาก เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย คือ เด็กมีประสบการณ์ทำงานในสถานประกอบการจริง ภาคเอกชนก็ได้คนทำงานที่มีศักยภาพตามต้องการ ส่วนค่านิยมของคนไทยอยากให้ลูกได้รับใบปริญญา ปัจจุบันอาชีวะก็มีการจัดหลักสูตรปริญญาตรีสายปฏิบัติรองรับ
“ปัญหาของอาชีวะเวลานี้ยังขาดตัวเลขความต้องการแต่ละสาขาที่แท้จริง จึงไม่สามารถวางแผนผลิต แต่เวลานี้คณะทำงานด้านการยกระดับวิชาชีพอาชีวศึกษา ซึ่งร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนตามนโยบายประชารัฐ ได้กำหนดแผนงานเร่งด่วน ซึ่งในนั้นมีเรื่องการจัดทำข้อมูลความต้องการกำลังคนด้วย รวมถึงการปรับภาพลักษณ์ การพัฒนาอาชีวะสู่ความเป็นเลิศเฉพาะด้าน นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้รวมการบริหารจัดการอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนมาอยู่ภายใต้กำกับของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อผลักดันให้การขับเคลื่อนอาชีวะของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”
ศักยภาพเด็กไทยไม่ด้อยในเวทีสากล
ส่วนการเตรียมพร้อมด้านทักษะฝีมือเด็กอาชีวะให้สอดคล้องมาตรฐานอาเซียน ขณะนี้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้จัดทำมาตรฐานมากกว่า 200 สาขาแล้ว ซึ่งถ้าเด็กอาชีวะสามารถผ่านการรับรองมาตรฐานแต่ละด้านก็จะเป็นตัวการันตีฝีมือและมาตรฐานค่าตอบแทนด้วย ขณะที่ศักยภาพเด็กไทยเวทีอาเซียนในภาพรวมถ้าเป็นการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เชื่อว่าเด็กไทยสามารถสู้ได้ จะมีปัญหาคือทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ในอาเซียนไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 เป็นรองจากสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน และมาเลเซีย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังเตรียมการยกระดับคุณภาพภาษาอังกฤษ อาทิ โครงการอบรมครูที่มีทักษะภาษาอังกฤษ 3,000 คนเพื่อเป็นแกนนำในการถ่ายทอดเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษไปสู่ครูคนอื่นๆ ไปพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กต่อไป
"กระทรวงศึกษาธิการเป็นองคาพยพใหญ่ การทำงานถ้าไม่กำหนดทิศทางให้ชัดเจน มั่นคง ไม่สร้างการยอมรับจะถูกต่อต้านแต่ต้น ผมไม่ใช่นักการศึกษา เป็นทหารมาจากที่อื่น แต่ผมกล้าคิดนอกกรอบและไม่มีวาระซ่อนเร้น ดังนั้นหลักการทำงานจึงต้องทำให้ข้าราชการกระทรวงเชื่อมั่นวางใจพร้อมร่วมมือทำงานไปด้วยกัน งานต่างๆ ที่ผมทำไม่ได้หวังให้ใครจดจำอะไรเกี่ยวกับผม คิดแค่ว่าจะทำที่ทำอยู่ให้ดี ทุ่มเทเต็มที่ โดยเฉพาะการสร้างให้คนไทย เด็กไทยรุ่นใหม่เป็นคนดีมีวินัย ที่รู้จักใช้เหตุและผล คิดไตร่ตรอง ไม่ใช้แต่ความรู้สึก โดยใช้การศึกษาเป็นกลไกทำให้เกิดขึ้นซึ่งอาจไม่เห็นในทันที แต่ในระยะยาวอยากให้เกิดภาพเหล่านี้ ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของการปฏิรูปคน เพราะฉะนั้นจะติหรือชมอะไรก็ได้ แต่ถ้าผมอยากจะขอ มีเพียงอย่างเดียวคือ ผมขอกำลังใจ” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวสรุปปิดท้าย