สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. แนะสถานศึกษานำผลการประเมินไปใช้ในการวางแผนตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม จำนวน 13,243 แห่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ การไม่จริงจังและไม่ต่อเนื่องในการนำผลการประเมินมาใช้ในการปรับปรุง พัฒนา อย่างไรก็ตาม หากมีการดำเนินการประกันคุณภาพ โดยมีฐานข้อมูลในการจัดเก็บให้เป็นระบบและต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้การยกระดับคุณภาพสถานศึกษาให้สูงขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า จากข้อมูลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันมีสถานศึกษา ระดับขั้นพื้นฐานทั่วประเทศจำนวน 34,265 แห่ง แต่มีสถานศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 13,243 แห่งซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น เป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือการขาดแคลนทางด้านงบประมาณ หรือบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น แต่จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า โรงเรียนระดับขั้นพื้นฐาน ขนาดเล็ก แม้ว่าบางโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หากมีการนำผลการประเมินมาใช้ในการปรับปรุง พัฒนา และดำเนินการประกันคุณภาพ โดยมีฐานข้อมูลในการจัดเก็บให้เป็นระบบและต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้การยกระดับคุณภาพสถานศึกษาสูงขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ จึงได้แนะนำสถานศึกษาให้นำผลการประเมินไปใช้ในการวางแผนตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา ดังนี้
1) การให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 8 ขั้นตอนของการประกันคุณภาพภายใน เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตามขั้นตอน PDCA (Plan - Do - Check - Act) เกิดการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นระบบ มีคุณภาพตามมาตรฐาน
2) นำผลการประเมินมาปรับปรุงและวางแผนการดำเนินงาน ตระหนักถึงการนำผลการประเมินมาใช้ในการปรับปรุง พัฒนาสถานศึกษา เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและจะสามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) จัดระบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้สถานศึกษาจัดระบบการเรียนการสอนที่สอดแทรกกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เพิ่มการปฏิบัติจริง และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
4) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียสถานศึกษารายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาให้ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียได้รับทราบ เปิดรับฟังความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินงาน การปรับปรุงพัฒนา
ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ประโยชน์ของการประกันคุณภาพการศึกษา คือ
1.ผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
2.พ่อแม่ผู้ปกครอง จะมีความภาคภูมิใจในความสำเร็จของบุตรหลานที่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
3.ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ได้ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถและมีประสิทธิภาพ
4.สถานศึกษา หรือสถานประกอบการ จะได้รับผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณภาพ
5.ชุมชน ได้รับผู้เรียนและผู้ปฏิบัติงานที่มีคุณภาพ ชุมชนก็จะมีความสุข เกิดประโยชน์ต่อชุมชน
6.ประเทศชาติ จะเข้มแข็ง ทั้งด้านการทหาร การคลัง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง
จากประโยชน์ดังกล่าวหากมีการปฏิบัติงานที่มีการประกันคุณภาพ ก็จะส่งผลให้เกิดคุณภาพทั้งระบบ
ที่มา: http://www.naewna.com