เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยกรณีที่ พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายปรับการจัดสอบคัดเลือกครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระบุให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้จัดสอบ มาให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ดำเนินการตั้งแต่ออกข้อสอบ เชื่อว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก อีกทั้ง ผู้สอบยังเก็บคะแนนไว้ได้ถึง 2 ปี เมื่อ สพท.ใดต้องการเปิดรับครู ก็ให้นำคะแนนไปยื่นสมัครใน สพท.นั้น และให้ สพท.เป็นผู้สัมภาษณ์เพียงขั้นตอนเดียว เช่นเดียวกับการสอบเข้ารับราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่า เห็นด้วย หากจัดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยแบบสอบครั้งเดียวทั่วประเทศ แล้วเก็บคะแนนไว้ใช้ได้ 2 ปี แต่ต้องทำให้สมบูรณ์แบบ ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด และที่ต้องระวังคือกรณีข้อสอบรั่วด้วย เพราะการออกข้อสอบโดยมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ย่อมเสี่ยงที่จะทำให้ข้อสอบรั่วได้สูง โดยตนในฐานะที่ดูแลการออกข้อสอบครูผู้ช่วยของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) มาหลายปี ยินดีเป็น ที่ปรึกษาเพื่อให้ระบบการจัดสอบสมบูรณ์มากที่สุด
"ผมเห็นด้วยถ้าจะปรับระบบการสอบครูผู้ช่วยมาใช้ข้อสอบเดียวทั่วประเทศ แต่หากจะทำ ต้องทำให้เป็นระบบที่สมบูรณ์ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาข้อสอบรั่ว เพราะมีผู้เกี่ยวข้องกับการออกข้อสอบหลายฝ่าย และจากประสบการณ์การออกข้อสอบครูผู้ช่วยที่ผ่านมา ก็พบปัญหาว่ามหาวิทยาลัยออกข้อสอบที่มีความยากง่ายต่างกัน จึงมีผลต่อการเรียกใช้บัญชีข้ามเขตพื้นที่ฯ เพราะอาจได้ครูที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามต้องการ" นายสุขุมกล่าว
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยหลักการเห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยมีความลักลั่น เนื่องจากแต่ละสถาบันออกข้อสอบที่มีมาตรฐานต่างกัน ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือการทุจริตเกิดขึ้นมาก ดังนั้น หากจะปรับเรื่องการสอบ จะต้องหามาตรการแก้ปัญหานี้ ด้วย ขณะเดียวกัน ศธ.ควรใช้โอกาสนี้ยกระดับการผลิตครู โดยหารือกับสถาบันผลิตครู ให้ปรับหลักสูตรให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ให้แตกต่างเหมือนปัจจุบัน เพื่อ ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการสอบคัดเลือก ที่ใช้ข้อสอบเดียวทั่วประเทศ ส่วนที่จะให้ สทศ.ออก ข้อสอบนั้นยังไม่มั่นใจ เพราะต้องยอมรับว่าภาพของ สทศ.ขณะนี้ยังไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากสังคมเท่าที่ควร โดยจะเห็นว่าการจัดสอบที่ผ่านมามีปัญหา ทั้งข้อสอบยากเกินไป หรืออื่นๆ ดังนั้น ควรปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน และทำให้สังคมมีความเชื่อถือในตัว สทศ.ก่อน เพราะ การสอบคัดเลือกครู ถือเป็นการสอบระดับประเทศ ที่ ไม่ควรมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
ที่มา มติชน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559