“มูลนิธิศึกษาพัฒน์” เตรียมขยายผล “การเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา”
เปิดเวทีโชว์ความสำเร็จการพัฒนา “เด็ก-ชุมชน-ธุรกิจ” ด้วย “Constructionism”
มูลนิธิศึกษาพัฒน์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “Constructionism 2016” ครั้งแรกในประเทศไทย เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานการพัฒนาต้นทุนมนุษย์ด้วยศาสตร์ Constructionism หรือ การเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา โดยมีบุคลากรด้านการศึกษาจากทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ร่วมสัมมนากับนักการศึกษาของไทย ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และฮ่องกง เพื่อนำเสนอแนวคิด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ณ ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้
การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism หรือ การจัดการเรียนการสอนแบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์ Seymour Papert แห่ง Massachusetts Institute of Technology (MIT) บนความเชื่อที่ว่า “มนุษย์ทุกคนสามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา” ดังนั้นการจัดการศึกษาที่แท้จริงคือการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมผู้เรียนให้สร้างการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ที่ประกอบไปด้วยปัจจัย 4 ประการได้แก่ ความเป็นเจ้าของ ทำด้วยใจ เรียนรู้ร่วมกัน และเรียนรู้วิธีเรียน ผ่าน 3 กระบวนที่หมุนเวียนในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่องคือ ฝึกการคิดและจินตนาการ เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และรับฟังมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่างจากเพื่อนและครู
นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และผู้อำนวยการโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Constructionism ในประเทศไทย เปิดเผยว่าการจัดการประชุม Constructionism ไม่เคยจัดที่อื่นนอกจากกลุ่มประเทศยุโรปและเอมริกา แต่เมื่อสองปีที่แล้วเราได้ส่งคนไทยไปแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้นำเอาหลักคิดของ Constructionism มาใช้พัฒนาคนได้ทุกภาคส่วนของสังคมตั้งแต่ชาวไร่ชาวนาผู้ยากจน เช่นชุมชนบ้านสามขามีคุณภาพชีวิตที่ีขึ้น เมื่อนำไปใช้ในหลายๆ โรงเรียนก็มีผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ดีขึ้นได้รับรางวัลมากมาย ส่วนภาคเอกชนเมื่อนำแนวทางการบริหารจัดการพัฒนาทุนมนุษย์ดังกล่าวไปใช้ก็สามารถประหยัดเงินได้นับพันล้านบาท หรือนำไปใช้กับธุรกิจด้านขายปลีกก็พบว่าประหยัดเงินไปได้สองเท่าในระยะเวลา 5 ปี
“กว่า 20 ปีที่เรานำการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism ไปใช้ พบว่าสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผ่านวิธีการที่ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ เด็กของเราจะคิดเป็นและทำเป็น ไม่ใช่แค่ท่องจำหรือฟังจดจำจากการสอนบนกระดานดำ เพราะหลักของ Constructionism สร้างให้เด็กเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างให้คนเป็นนวัตกร เมื่อเขาโตขึ้นจะสามารถเรียนรู้เพื่อรู้หรือ learning how to learn ซึ่งจะทำให้เขาคิดต่อไปเองได้ อย่างที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัยก็เป็นฐานของการขยายผลการดำเนินงานออกไปที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนทัศนคติของผู้ใหญ่ในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบเดิมมาเป็นรูปแบบใหม่นั้นยังเป็นเรื่องยากซึ่งจะต้องใช้เวลา และที่สำคัญคือผู้บริหารของสถานศึกษาต้องเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าวจึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกับการศึกษาของไทยได้” นายพารณระบุ
ภายในงานได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองของการนำแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนแบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญามาร่วมแลกเปลี่ยนกัน สำหรับประเทศไทยได้นำเอากรณีศึกษาของ ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มานำเสนอซึ่งพบว่าเด็กนักเรียนมีความชื่นชอบและสนุกที่จะเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยจะมีคุณครูเป็นผู้ที่คอยให้การสนับสนุน หรือนำหลักและทฤษฐีต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนรู้ที่สามารถทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์องค์ความรู้ต่างๆ ขึ้นได้ด้วยตนเอง
ด้านกรณีศึกษาจาก ประเทศคอสตาริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบที่นำกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Constructionism ไปใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 กับการจัดการเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ได้ร่วมนำเสนอแนวคิดของการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ว่าการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งจะต้องดึงพลังความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาทั้งภาครัฐ เอกชน กระทรวง มูลนิธิร่วมมือกัน โดยจะต้องไม่มีเรื่องของการเมืองเข้ามาข้องเกี่ยว
“ความเข้าใจของครูส่งผลต่อความเข้าใจของเด็ก ดังนั้นการขับเคลื่อนการเรียนรู้แบบ Constructionism ให้ประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีการอบรมครูอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศคอสตาริกามีโรงเรียนกว่า 2,500 แห่งที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ และทำให้เกิดการปฏิวัติการศึกษาและสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในประเทศได้” Leda Munoz ผู้แทนจากมูลนิธิ Omar Dengo ประเทศคอสตาริกา กล่าว
นางสาวอัจฉรา เตชะสินธุ์ธนา ครูระดับประถมศึกษา กล่าวถึงการจัดการเรียนการรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญาว่า เป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ เพราะหลายครั้งเรามักจะคิดและวางแผนการทำงานอยู่เพียงในหัวของเราเพียงอย่างเดียว โดยไม่เคยนำออกมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม แต่เมื่อไรก็ตามที่เราลงมือทำ ก็จะเป็นการเอาความคิดเหล่านั้นตีความออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นสิ่งที่ทำและเข้าใจว่าความคิดนั้นมีความสับสนอยู่ตรงไหน
“การเรียนรู้แบบนี้เป็นการเรียนรู้ที่เปิดกว้างมาก สำคัญว่าเราได้มองเห็นความคิดของตัวเราเองและลงมือปฏิบัติ เมื่อเกิดผลขึ้นก็สามารถมองย้อนกลับไปหาตัวเองได้ว่าผลหรือสิ่งที่ทำนั้นดีหรือไม่ดี มีปัญหาตรงไหน แล้วจะพัฒนาต่อไปได้อย่างไร สิ่งที่เด็กๆ จะได้รับจาก Constructionism หลักๆ ก็คือ คิดเป็น คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ ผ่านการลงมือทำ แล้วก็การทำงานร่วมกันเพื่อที่จะแบ่งปันให้กับคนอื่น ที่สำคัญคือความรู้ที่เขาได้รับจากการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ใช่ความรู้มือสองที่ได้จากการที่ใครมาพูดหรือบรรยายให้ฟัง แต่เป็นความรู้มือหนึ่งที่ได้เขาได้จากการลงมือทำเอง ซึ่งหมายความว่าเขาจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ และความรู้นี้จะติดตัวเขาไปเป็นความเข้าใจที่จะสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง” คุณครูอัจฉรากล่าว
ปัจจุบัน “มูลนิธิศึกษาพัฒน์” ได้เผยแพร่และต่อยอดกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญาสู่ภาคสังคมผ่าน “โครงการจัดการหนี้สิน” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมผ่าน “โครงการพัฒนาบุคลากรแบบ Constructionism” ที่เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้บุคลากรในองค์กรมีความสามารถในการเรียนรู้ เกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน และสามารถคิดค้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้ และพร้อมที่จะขยายผลการออกไปสู่สถาบันการศึกษาและทุกภาคส่วนในสังคมไทยเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และทุนมนุษย์ของคนไทยให้สูงขึ้น.