ภัยเงียบของเยาวชน
ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม สายลมพัดกลิ่นอายฝนเข้ามาที่หน้าต่างชั้นสาม ที่พักอาศัยของผู้เขียนย่านสี่แยกรัชดา - สุทธิสาร
ฟุ้ง...สายลมมิได้พัดพาแต่กลิ่นอายฝนเท่านั้น แต่ยังหอบละอองฝุ่นเข้ามาสัมผัสใบหน้าและร่างกายของผู้เขียนอีกด้วย “ไม่ไหวแล้วห้องสกปรกแน่” ผมต้องเลื่อนหน้าต่างปิดทันทีเพื่อกันละอองฝุ่นและละอองฝน ที่มีทีท่าว่าจะตกในเวลาอันใกล้
ถนนหน้าที่พักไม่ค่อยมีผู้คนพลุกพล่านมากนัก เงียบสงบสำหรับนั่งคิดงานเขียน นั่งคิดเหม่อมองท้องฟ้าและผืนดิน อยู่สักระยะหนึ่งด้วยความที่คิดไม่ออกสมองไม่แล่น
ผมมองดูความเป็นไปของซอยที่พักอยู่สักระยะหนึ่ง “โป๊ะ ๆ แป๊ะ ๆ ตีมันเลยมันจะได้ไม่กล้ากัด” ผมเหลียวมองกลับไปตามเสียงที่ลอยมากระทบหูในทันใด และสังเกตเห็นเด็กผู้ชายสองคนคาดว่าจะเป็น สองพี่น้อง ซึ่งคนพี่ถือสมุดเล่มสีเหลืองฟาดฟันกับสุนัขหน้าบ้าน อย่างสนุกสนาน
ผมมองอิริยาบถของเด็กสองพี่น้องแล้วน่าชวนคิดว่าการกระทำที่ พี่ชายจิกหัวสุนัขขึ้นมาและเอาสมุดฟาด หรือการเอาสมุดฟาดโดยไม่ยั้งมือนั้น เต็มไปความรุนแรงที่กระทำต่อสัตว์ร่วมโลกของเรา และอาจเป็นสุนัขของเขาเองด้วยซ้ำ แต่สุนัขตัวนั้นก็มิได้ตอบโต้เด็กสองคนแต่อย่างใดทั้งสิ้น อีกทั้งไม่มีผู้ใหญ่คนใดเข้าไปห้ามปราม แม้กระทั่งผู้ที่เดินสัญจรไปมา
เกิดคำถามขึ้นในใจของผู้เขียนว่า “สุนัขตัวนั้นทำผิดอะไร?” และ “เด็กมีพฤติกรรมความรุนแรงได้อย่างไร?”
สังคมในกรุงเทพมหานคร เป็นสังคมเมืองที่มีผู้คนอยู่มากมาย จะเห็นว่าจะมองไปทางใดก็พบแต่ตึก อาคารสูง เต็มไปทุกตารางเมตร อีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองต่างหมั่นเพียรทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว จนบางครั้งอาจหลงลืมแบ่งเวลาให้กับลูกของตัวเอง จนกระทั่งเด็กต้องพึ่งพาสื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ สำหรับคลายความเหงา หาเพื่อน และฆ่าเวลาความเหงาให้ผ่านไปในวันแต่ละวัน เช่นการดูโทรทัศน์การ์ตูนตามเคเบิ้ลทีวี หรือการใช้อินเตอร์เน็ตในการเล่นเกม เป็นต้น
ผู้อ่านคงได้เคยรับชมภาพยนตร์ “The Mask หน้ากากเทวดา ภาค 2” กันมาบ้าง ซึ่งมีอยู่ฉากหนึ่งที่พ่อของเด็ก (ลูกครึ่งเทวดา) ต้องเลี้ยงลูกและทำงานอยู่กับบ้าน โดยที่พ่อของเด็กให้ความสนใจกับงานที่จะต้อง Present มากกว่าที่จะดูแลลูก จึงปล่อยลูกให้อยู่กับโทรทัศน์ตลอดทั้งวัน จนเด็กซึมซับการกระทำของการ์ตูน และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ โดยกระทำกับหมาที่บ้านเฉกเช่นเดียวกับภาพการ์ตูนที่ได้ชมทางโทรทัศน์
ใช่ครับ...ฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสื่อถึงการมอบความรัก และให้เวลากับเด็ก แม้ว่าจะเป็นเพียงเวลาอันเล็กน้อยก็ตาม เพียง 5 – 10 นาที เด็กก็ได้รับรู้ความอบอุ่นของพ่อและแม่ได้แล้ว แต่การสื่อความหมายของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกนัยยะ หนึ่งก็คือความอันตรายของการเปิดรับสื่อโทรทัศน์และพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็ก
“เคเบิ้ลทีวี” หรือ “จานดาวเทียมรับสัญญาณโทรทัศน์” เป็นสื่อที่มีอิสระและปราศจากการควบคุมเนื้อหา ซึ่งต่างจาก “ฟรีทีวี” ที่สแกนเนื้อหาแล้ว ดูดเสียงอีก ติดสัญลักษณ์จัดกลุ่มคนดูนิดหน่อย และปล่อยออกอากาศ แต่สื่อเคเบิ้ลและจานดาวเทียม กลับมีรายการทั้งภาพยนตร์แนวแอคชั่น บู๊ล้างผลาญ ใช้ความรุนแรง หรือการ์ตูนที่แม้ดูว่ามีความน่ารัก แต่แฝงด้วยการใช้ภาษาคำพูดที่หยาบคาย และการใช้ความรุนแรงแก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า ฉายอยู่อยางเปิดเผย
“สื่อโทรทัศน์อิสระเฉกเช่นนี้ น่ากลัวกว่าสื่อฟรีทีวีเสียอีก” ซึ่งเป็นภัยเงียบต่อพฤติกรรมและความคิดของเด็กและเยาวชน ในยุคของเทคโนโลยีก้าวหน้า
การควบคุมสื่อประเภทนี้จากภาครัฐ หรือภาคเอกชน แม้กระทำได้ยาก แต่ก็สามารถควบคุมได้โดยพ่อแม่และผู้ปกครองที่ต้องทำความเข้าใจ และเอาใจใส่ต่อบุตรหลาน อธิบายคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่ไปกับการเสพสื่อ เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่บุตรหลานของเราได้ในระดับที่ถือว่ามีความปลอดภัยจากการเสพสื่อแล้ว
เคเบิ้ล – ดาวเทียม ภัยเงียบของเยาวชน
Posted by ปากกาวานร óóóóó
|