สสค.เผยไทยติด 1 ใน 16 ประเทศ นักเรียนสอบตกการวัดผลระดับนานาชาติกว่าครึ่งประเทศ พร้อมเปิดผลวิจัยของ OECD พบสาเหตุ 3 ปัจจัยที่ทำให้เด็กมีคะแนนต่ำมาจาก “ครอบครัว-โรงเรียน-ระบบการศึกษา” ชี้หากไม่เร่งแก้ไขจะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 16%
วันนี้(17ก.พ.) ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงกรณีการสอบโอเน็ตที่เยาวชนไทยสอบตกในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กว่าครึ่งประเทศว่า ปรากฎการณ์เด็กไทยสอบตกกว่าครึ่งประเทศไม่ใช่เฉพาะการสอบโอเน็ตเพียงอย่างเดียว แต่การวัดผลระดับนานาชาติอย่าง PISA ก็ได้ผลใกล้เคียงกันที่เด็กไทยมากกว่าครึ่งประเทศสอบตกวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่การอ่าน ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็น 1 ใน 16 ประเทศ ที่เยาวชนอายุ 15 ปี สอบตกPISAมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างนักเรียนที่เข้าสอบ
ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กมีผลการเรียนต่ำไม่ได้มาจากเด็กเพียงอย่างเดียว ซึ่งจากผลวิจัยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD ) ที่ได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกของเยาวชนในกลุ่มประเทศที่มีผลคะแนนสอบตกมากกว่าครึ่งประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 10 ปีรวมทั้งประเทศไทย และได้มีการเผยแพร่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยที่ทำให้เด็กมีผลการเรียนต่ำมาจาก 3 ส่วนสำคัญคือ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน และ
ปัจจัยที่เกี่ยวกับระบบการศึกษา
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัวประกอบด้วย ความยากจน การขาดโอกาสทางการศึกษาก่อนวัยเรียนหรือเข้าเรียนล่าช้า ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดเรียนและมีแนวโน้มหลุดจากระบบการศึกษา รวมถึงการอบรมเลี้ยงดูที่ส่งผลต่อทัศนคติด้านการศึกษา ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ประกอบด้วย สัดส่วนเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพในการพัฒนาเด็กด้อยโอกาสเป็นรายบุคคล สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ในโรงเรียน ปัญหากระบวนการสอนในชั้นเรียน เช่น ครูไม่อยู่ในห้องเรียน ครูไม่ครบชั้นหรือขาดประสบการณ์ รวมถึงการขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากรที่เพียงพอ สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา โดยเฉพาะการจัดสรรทรัพยากรด้านการศึกษาที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น
“การแก้ปัญหาจึงไม่ควรแก้เฉพาะในโรงเรียน แต่ต้องทำงานร่วมกันระหว่างครอบครัว โรงเรียน และชุมชนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องต่อความต้องการที่หลากหลายของเด็กที่มีปัญหา รวมถึงพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้หากไม่แก้ปัญหาพัฒนาการเรียนรู้ที่ล่าช้าของเด็กอายุ 15 ปี อย่างเป็นระบบ OECD ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายจากกำลังแรงงานที่ขาดคุณภาพไว้ว่า จะส่งผลเสียต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะหายไปถึงร้อยละ 16 ” ดร.ไกรยส กล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559