ข้อสอบโหด คะแนนโอเน็ตตกต่ำ เด็กบ้าระห่ำเรียนพิเศษ ผลเฉลี่ยของประเทศต่ำกว่านานาชาติ นักเรียนไทย ครูไทย และหลักสูตรการศึกษาไทยกลายเป็นจำเลยที่ถูกตบหน้าฉาดใหญ่ว่า "ตัวปัญหา" แต่ในมุมของ "ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์" คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับเห็นต่าง
...นี่ไม่ใช่ความผิดของครู นักเรียน โรงเรียน แต่เป็นบทสะท้อนหนึ่งของระบบการศึกษาไทยที่ล้มเหลวจากอดีตผู้กุมนโยบายการศึกษาทั้งหลาย
ข้อสอบระดับชาติ ปัญหาระดับชาติ
คำกล่าวที่ว่า "ยิ่งโต ยิ่งเรียน ยิ่งไม่มั่นใจในระบบ" ดูจะเป็นภาพที่ชัดขึ้นจนใครหลายคนต้องหันกลับมาตั้งคำถาม และทวงถามถึงการเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์มากขึ้น แม้จะมีความหวังที่ผุดพรายขึ้นจากการตื่นตัวของผู้ใหญ่หลายๆ ฝ่าย แต่ก็ยังดูคลุมเคลือ และหลงทางอยู่มาก
ประเด็นนี้ ดร.โกศล ในฐานะคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทย เริ่มตั้งแต่ตัว "ข้อสอบระดับชาติ" โดยเฉพาะมาตรฐานของข้อสอบที่ไม่สอดคล้องกับการวัดมาตรฐานความรู้ของเด็ก
ดร.โกศล บอกว่า ที่ผ่านมาการออกข้อสอบจะมาจากหลักสูตรแกนกลาง แต่ปัญหาคือ หลักสูตรแกนกลางกับหลักสูตรที่สอนมันไม่สอดคล้องกัน
"เวลาออกข้อสอบไม่ใช่วัดว่าเด็กโง่ หรือฉลาด แต่ต้องวัดว่าครูสอนมีประสิทธิภาพหรือไม่ เด็กสอบได้หรือไม่ได้มันอยู่ที่ความสามารถของครูว่าสอนเด็กได้ดีมากน้อยแค่ไหน ส่วนเรื่องข้อสอบ พอถูกพูดถึงมากขึ้นว่ายาก เด็กทำกันไม่ได้ ก็ออกมายอมรับ ขอโทษ ส่วนตัวมองว่า ออกมาโทษได้อย่างไร ฉะนั้นหลักการมันผิดไปหมด" ผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้บอกด้วยความละเหี่ยใจ ก่อนจะเสนอว่า "ต้องปฏิรูปวิธีการสอนด้วยโดยให้เด็กนักเรียนได้หัดคิด หัดวิเคราะห์ ครูควรจะพูด 5-10 นาที ทีเหลือ 40-50 นาทีควรให้เด็กเป็นคนคิด หรือนำเสนอ"
ส่วนเรื่องข้อสอบ ถ้าเด็กยังเคยชินกับข้อสอบแบบปรนัยในระบบโรงเรียน แม้จะเปลี่ยนเป็นข้อสอบอัตนัยในการสอบระดับชาติมันก็ยิ่งยากเข้าไปอีก นอกจากนั้นยังกระทบไปถึงผลการประเมินคุณภาพการศึกษาด้วยวิธีการของ PISA (Programme for International Student Assessment) ของประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) ที่ใช้ทดสอบนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่ง PISA เป็นข้อสอบแบบอัตนัยก็ยังคงออกมาไม่ดี เพราะเด็กไทยไม่คุ้นเคย ไม่แปลกที่การศึกษาไทยจะออกมาดูด้อยกว่าประเทศอื่น นี่คือสิ่งที่ต้องเฉลียวใจกันได้แล้ว
"ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาด้วยวิธีการของ PISA ธนาคารโลก สถาบัน IMD มักจะเอาตัวนี้ไปอ้าง หรือใครๆ ก็เอาตัวนี้ไปอ้าง ในที่สุดก็มาบอกว่า ประเทศไทย เด็กไทยคุณภาพด้อยกว่าประเทศอื่น ซึ่งน่าสงสารมากที่ผู้ใหญ่เอามาพูดโดยที่ผู้ใหญ่เองเป็นผู้วางนโยบายต่างๆ ไม่เข้าใจ แต่กลับไปเอาครู เด็กไปเป็นจำเลยของสังคม แต่ถ้าคุณบอกเข้าใจ คุณต้องเข้าใจมันจริงๆ โดยต้องเริ่มปฏิรูปวิธีการเรียนการสอนให้เด็กคุ้นเคยกับการสอบแบบอัตนัยเสียก่อน
ผมเคยไปกระทู้ถามท่านดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แล้วท่านก็มาสั่งให้สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) บอกว่า ต่อไปเวลาการสอบให้เน้นข้อสอบแบบอัตนัย หลังจากนั้นก็มีข่าวออกมาว่าสพฐ.ตอบรับแล้ว ต่อไป 30 เปอร์เซ็นต์ของการสอนภาษาไทยจะเป็นแบบอัตนัย ซึ่งผมก็ตกใจ สอบภาษาไทยมันต้องเป็นแบบอัตนัยมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ที่อยากชี้ให้เห็นก็คือ วิชาคณิตศาสตร์ ไม่ใช่ท่องจำมาแล้วขีดถูกขีดผิด เพราะวิธีขีดถูกขีดผิดมันก็เลยทำให้โรงเรียนกวดวิชายิ่งเจริญรุ่งเรือง
พอเด็กเข้าไปกวดวิชาก็จำมาให้รู้เทคนิคของการคิดขีดถูกขีดผิด ไม่ได้ใช้เหตุผล ไม่ได้ใช้การคิดวิเคราะห์ หรืออย่างคะแนนโอเน็ต ต่างประเทศเขาไม่ได้สนใจเลย มันเป็นเรื่องภายในทั้งสิ้น มันไม่ได้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างแท้จริงด้วยซ้ำ เมื่อคะแนนตกต่ำแทนที่จะเฉลียวใจได้แล้ว ทำไมต้องไปเอาครู หรือนักเรียนมาเป็นจำเลยด้วย ทำไมไม่คิดถึงตัวข้อสอบเองล่ะว่า ออกข้อสอบไปทำอะไร"
การศึกษาชาติล้มเหลว ผิดที่ใคร?
ดังนั้น การจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดี และคุ้นเคยกับวิธีการประเมินแบบอัตนัยของประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องหันกลับมามองที่ตัวการใหญ่คือ "ผู้กุมนโยบายการศึกษา" โดยมุ่งเน้นการสอบแบบอัตนัย โดยเฉพาะการสอน การสอบในรั้วมหาวิทยาลัย ตลอดจนการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย เพราะถ้าเริ่มเปลี่ยนจากจุดนี้ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการทดสอบระดับชาติ หรือโอเน็ตก็จะเปลี่ยนตาม
"คุณภาพการศึกษาไทยที่ว่าด้อยไม่ได้มาจากครูเป็นหนี้ เพราะท่านดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณเคยเอาเรื่องหนี้ของครูมาให้ดู แล้วพบว่า ในครูจำนวน 4 แสนกว่าคน มีครูที่วิกฤตเรื่องหนี้อยู่ไม่ถึง 2,000 คน แต่คุณภาพการศึกษามันอยู่ที่ผู้วางนโยบาย เอาไปพูดต่อโดยไม่เข้าใจ ดังนั้นส่วนตัวมองว่าหลักสูตรของเรามันไม่ได้ด้อยหรอก ครูผู้สอนก็ไม่ได้ด้อยกันไปหมด นักเรียนไทยก็ไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่น เพียงแต่วิธีการประเมินผลของ PISA เด็กไทยเราไม่คุ้นเคยกัน กระทรวงศึกษาก็ไม่ได้สนใจ ภาพการศึกษาไทยก็เลยออกมาเป็นแบบนี้"
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากการปฏิรูปตัวชี้วัด และวิธีการเรียนการสอนโดยเน้นข้อสอบแบบอัตนัยแทนปรนัย คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ท่านนี้เสนอว่า ควรหันมาใช้ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็ก สร้างเครือข่ายในแต่ละเขตพื้นที่เพื่อยกค่าเฉลี่ยระดับจังหวัด
"ก่อนที่คสช.จะเข้ามา ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาคือ นักการเมืองที่ไปบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พอเข้าไปก็เก่งหมด ทำโน่น ทำนี่ กลายเป็นโครงการโน้น โครงการนี้ แต่ตัวเองก็อยู่ได้ไม่นาน แถมไม่มีใครสานต่อ หรือประเมินผลกัน ส่วนตัวกล้าพูดได้เลยว่า การศึกษาที่บอกว่าตกต่ำ ไม่ได้มาจากครู นักเรียน แต่ที่ตกต่ำเพราะอดีตผู้กำหนด หรือผู้กุมนโยบายการศึกษาที่ไม่เข้าใจปัญหา และเกาไม่ถูกที่คัน
ถ้าอยากจะให้พัฒนาในทางที่ดี ส่วนตัวเสนอให้อำนาจเป็นพื้นที่ๆ หรือเป็นจังหวัดๆ ไป จากนั้นเอาทรัพยากรทางด้านครูในจังหวัดมาพิจารณาร่วมกันว่าครูคนนี้ต้องไปสอนโรงเรียนนั้น ครูคนนี้ต้องไปสอนโรงเรียนนี้ ผิดกับทุกวันนี้ที่ในจังหวัดมีโรงเรียนประจำจังหวัด และเด็กมักจะแห่ไปเข้าเรียนกัน ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ชนบทแทบจะไม่ได้รับอะไรเลย เมื่อได้ครู ได้ความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว มีการจัดห้องเรียนอย่างเหมาะสม เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ คุณภาพของนักเรียนไทย ครูไทย และหลักสูตรการศึกษาของไทยจะไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่น"
"ผอ." กับการได้มาที่น่าห่วง
ส่วนอีกหนึ่งปัญหาที่น่าเป็นห่วงก็คือ การได้มาของผู้บริหารสถานศึกษา หรือครูใหญ่ รวมไปถึงผู้ช่วยครูใหญ่ที่ต้องกลับมาทบทวน และแก้ไข
"การได้มาล้วนแล้วแต่ได้มาจากการสอบ และข้อสอบส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของระเบียบราชการแทบทั้งนั้น ทำให้ส่งผลต่อการบริหารการศึกษาที่เน้นการสั่ง การใช้อำนาจ แทนที่จะให้ความสำคัญกับงานวิชาการ นอจากนั้นยังเข้ามาจัดการเรื่องการก่อสร้างเสียเป็นส่วนใหญ่ มีครูใหญ่น้อยคนนักที่สนใจเรื่องวิชาการ
เช่นเดียวกับตัวครูผู้สอน ไม่ใช่ให้ครอบงำโดยครูที่ผ่านกระบวนการผลิตครูเท่านั้น ส่วนตัวมองว่าเรื่องมาตรฐานวิชาชีพครู ใบประกอบวิชาชีพครูจะต้องสังคายนากันครั้งใหญ่" ก่อนจะทิ้งท้ายว่า "เด็กไทยไม่โง่ครับ นอกจากครูไปสอนให้เด็กโง่ ส่วนระบบครู ผมมองว่าก็ยังดีอยู่นะ มีจำนวนมากเลยที่ยังดีอยู่ ที่ไม่ดีก็คือผู้กำหนดนโยบายการศึกษา และการได้มาของครูใหญ่ที่ผมมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้"
ที่มา ผู้จัดการรายวัน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559