"กำจร"ถามถ้าให้ปลัด ศธ.มีอำนาจสูงสุด หากตัดสินใจผิดพลาดใครจะร่วมรับผิดชอบบ้าง???
เมื่อวันที่ 15 ก.พ.59 รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับโครงสร้าง ศธ.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและการกีฬาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยในส่วนข้อเสนอของ กมธ.การศึกษาฯ ที่เสนอให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณานั้น
ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียด แต่เท่าที่ทราบ กมธ.การศึกษาฯ เสนอให้ ศธ.มีขนาดเล็กลง กระจายอำนาจให้มากขึ้น โดยให้มี ปลัด ศธ.เป็นผู้ประสานระดับ 11 เพียงคนเดียว แต่หากจะปรับตามนั้น ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ด้วยว่า ถ้าให้ปลัด ศธ.มีอำนาจสูงสุด และมีการตัดสินใจผิดพลาด ใครจะต้องรับผิดชอบบ้าง ตรงนี้ต้องดูทั้งระบบ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา จะปรับเล็กหรือใหญ่ไม่สามารถบอกได้ แต่จากนี้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพียงแต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเปลี่ยนอย่างไร อาทิ นโยบายประชารัฐ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการชุดที่ 11 ที่อยากให้ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งต้องมาดู ข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า มีเรื่องใดบ้าง หากจำเป็นต้องปรับแก้ ก็อาจะต้องดำเนินการ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาครู และการพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ด้วย
"ไม่อยากให้กังวลว่าเอกชนจะเข้ามาแทรกแซงการจัดการศึกษา ซึ่งในต่างประเทศก็ให้เอกชนและภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพราะคนเหล่านี้จะมีความใกล้ชิดกับท้องถิ่น และจะสามารถผลิตคนได้ตรงตามความต้องการของภาคเอกชนได้ การทำตรงนี้อยากให้เห็นแก่ประเทศชาติเป็นหลักมากกว่า ส่วนเอกชน เมื่อเข้ามาร่วมจัดการศึกษาแล้วจะได้อะไรนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ แต่อาจจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น หรือดูมาตรการด้านภาษีในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้าไป"
รศ.นพ.กำจร กล่าวและว่า อีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การเดินหน้าจัดตั้งกรมวิชาการ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อจัดตั้ง หรือจะใช้อำนาจของ รมว.ศึกษาธิการ ประสานภายในและจัดตั้งเป็นสำนักวิชาการขึ้นมาก่อน เพื่อเดินหน้าในเรื่องการปรับหลักสูตร ซึ่งต่อไปหลักสูตรจะต้องมีความยืดหยุ่น เพราะโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว โดยอาจต้องทบทวนหลักสูตรทุก 3 ปี ไม่ใช่ 10 ปี เช่นปัจจุบัน
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559