รมช.ศธ.เผยการประเมินภายในรูปแบบใหม่เริ่มจากโรงเรียนต้องประเมินตัวเองภายใต้ 4 กรอบมาตรฐานโดยไม่ต้องใช้เอกสาร ชี้ต้องเร่งสร้างผู้ประเมินรุ่นใหม่ที่ไว้ใจได้ภายใน 6 เดือน รองรับการเปลี่ยนแปลง
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ตนได้ยันยืนกับทาง สมศ.ถึงโรดแมปการประเมินภายในที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะดำเนินการ ซึ่งทาง ศธ.มีความชัดเจนว่าในการประเมินภายในจะต้องประเมินในรูปแบบที่โรงเรียนจะสร้างมาตรฐานให้กับตนเอง รู้จักที่จะประเมินตัวเองให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือตัวบ่งชี้ที่ทางเราจะไปดู คือ การประเมินต้องมีประโยชน์ มาตรฐานขั้นต่ำที่มองว่าบริหารงานดีต้องเป็นยังไง ทรัพยากรเป็นอย่างไร มีครูผู้สอนครบทุกรายวิชาหรือไม่
ทั้งนี้ มาตรฐานการประเมินที่จะต้องมีการตกลงร่วมกันกับ สมศ. ในกฎหมายก็ได้มีการกำหนดไว้อยู่ 4 มาตรฐาน คือ 1.มาตรฐานผลการเรียนการสอน เช่น มาตรฐานทางวิชาการ อาจจะวัดจากคะแนนทดสอบการทางการศึกษาแห่งชาติ หรือโอเน็ต หรือพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก เป็นต้น 2.มาตรฐานการบริหารจัดการศึกษา ซึ่งจะวัดว่าโรงเรียนมีระบบสร้างคนดีหรือไม่ เด็กมีลักษณะนิสัยอย่างไร 3.มาตรฐานการจัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 4.มาตรฐานระบบประกันคุณภาพ คือ โรงเรียนจะต้องมีระบบที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองในการส่งลูกหลานมาเรียน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประเมินตามกรอบนี้ และจะเป็นการลดภาระให้แก่โรงเรียน เพราะหากโรงเรียนต้องการเป็นไปตาม 4 มาตรฐานนี้จะต้องมีการสร้างระบบเพื่อดำเนินการจริง ไม่จำเป็นต้องวัดแบบร้อยละหรือใช้เอกสาร เพียงแค่ถามว่าโรงเรียนดีเพราะอะไร ผู้บริหารสถานศึกษาที่ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบก็จะสามารถตอบได้ทันที
"อย่างไรก็ตาม การประเมินในลักษณะนี้ ผู้ประเมินจะมีความสำคัญมาก ดังนั้น ศธ.จึงต้องเร่งสร้างมาตรฐานของผู้ประเมินที่ไม่มีผลประโยชน์และไม่มีอคติ ในช่วงระยะ 6 เดือนหลังนี้ และให้ผู้ประเมินเป็นพี่เลี้ยงดูแลเรื่องจากประเมินคุณภาพให้แก่โรงเรียน เพื่อให้เตรียมตัวเข้ารับการประเมินอย่างถูกวิธี และผมคิดว่าการประเมินจะต้องมีการเห็นชอบจากทั้ง 2 ฝ่าย คือ สมศ. และ ศธ. ที่จะต้องเดินหน้าร่วมกันทำ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอีก จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล" รมช.ศธ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559