ในที่สุด "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 ร่างแรก" ฉบับที่ "นายมีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นประธานคณะกรรมการร่างรรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ยกร่าง 270 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล ก็คลอดออกมาเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนมีชัย และเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบแล้ว จากนี้ กรธ. จะปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอแนะของคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ฯลฯ โดยคาดว่าจะกำหนดวันออกเสียงประชามติได้ประมาณวันที่ 31 กรกฎาคมนี้
สำหรับเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับการจัด "การศึกษา" ในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ถูกเขียนอยู่ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ในมาตรา 50 และมาตรา 267 ของบทเฉพาะกาล มีดังนี้
หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 50 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย
รัฐต้องดำเนินการ หรือจัดให้มีการศึกษาก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนต้องได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้ง การศึกษาตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการกำกับส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล และดำเนินการให้ผู้ด้อยโอกาสได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และดำเนินการ และตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย
การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
บทเฉพาะกาล มาตรา 267 ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ร่วมกันดำเนินการ และผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาของชาติให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 50 วรรค 2 และวรรค 3 และให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามมาตรา 50 วรรค 4 โดยเร็ว โดยจะต้องจัดทำแนวทางการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นสมควร จะเสนอแนะต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการพิจารณาตามที่เห็นสมควรก็ได้
จากแนวนโยบายการจัดการศึกษาที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่ารัฐไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ได้กำหนดให้ประชาชนต้องได้รับการศึกษาอย่างน้อย 12 ปี เหมือนที่ปรากฏในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ส่วนที่ 8 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา มาตรา 49 ระบุว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ..."
เรื่องนี้ "นายสมพงษ์ จิตระดับ" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกางร่างรัฐธรรมนูญศึกษารายละเอียดในประเด็นนี้แล้วเห็นว่า ภาพรวมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญร่างแรก ในหมวดหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 50 เขียนเกี่ยวกับการศึกษาได้ละเอียดมากเมื่อเทียบกับฉบับ พ.ศ.2550 เพราะมีข้อบังคับมากขึ้น โดยมาตราดังกล่าวเน้นการพัฒนาผู้เรียนในช่วงปฐมวัย เด็กยากจน และนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา
โดยมาตรา 50 ระบุว่า "รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย" หมายถึง รัฐต้องช่วยอุปถัมภ์เด็กยากจนให้มีการศึกษาตามภาคบังคับ ส่วนวรรค 1 ที่ระบุว่า "รัฐต้องดำเนินการ หรือจัดให้มีการศึกษาก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง" หมายถึง รัฐต้องการเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมไปถึงการศึกษาระดับปฐมวัยด้วย
เมื่อดูวรรค 2 ที่ระบุว่า "รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนต้องได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้ง การศึกษาตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการกำกับส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล และดำเนินการให้ผู้ด้อยโอกาสได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย"
วรรคนี้จะเน้นผลักดัน และสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา ที่เรียนตามความถนัด และเน้นให้รัฐสนับสนุนการจัดการศึกษาทุกระดับร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ แต่มีจุดอ่อนที่เน้นการจัดทำแผนการศึกษาของชาติมากเกิน หากเทียบกับ พ.ร.บ. อื่นๆ ที่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง แต่ยังผลักดันไม่สำเร็จ
ส่วนวรรคที่ 3 ระบุว่า "การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ" หมายถึง การเน้นให้พัฒนาเด็กปฐมวัย ให้เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีวินัย คุณธรรม และรักชาติ ซึ่งเป็นการปูพื้นฐาน
นอกจากนี้ ในส่วนข้อบังคับยังเขียนไว้ชัดเจนไม่ให้เปลี่ยนแผนการศึกษา หรือหากเปลี่ยนต้องมีผลงานวิจัยมายืนยันว่าแผนที่เปลี่ยนดีกว่าแผนเดิม
สำหรับมาตรา 267 ของบทเฉพาะกาล เน้นการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากประกาศรัฐธรรมนูญ โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องดำเนินการตามข้องบังคับในรัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าว ด้วยการปฏิรูปการศึกษา และออกแผนการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ตามแนวทางที่นายมีชัยเคยกล่าวไว้ว่า "เราต้องกลับมาทำเรื่องเด็กปฐมวัย เน้นให้เด็กมีวินัย เพื่อตั้งความหวังกับเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นเด็กที่มีคุณภาพ เพื่อในอนาคตเด็กเหล่านี้จะมีส่วนร่วมในการเมือง"
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจากจุฬาฯ ท่านนี้เห็นว่า แม้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการศึกษาจะเขียนละเอียด และค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ยังมี "จุดอ่อน" ให้เห็นคือ รัฐธรรมนูญร่างแรกนี้ไม่ได้ระบุถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ ในมาตรา 267 ที่ระบุให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาของชาติ ซึ่งอาจจะเกิดข้อถกเถียงตามมาได้ ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ยังเป็นปัญหามากคือ ในร่างดังกล่าวเน้นการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติมากเกินไป
ขณะที่ "พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้มอบให้ทุกองค์กรหลักใน ศธ. ช่วยกันศึกษาร่างรัฐธรรมนูญในทุกมาตรา เพื่อส่งกลับไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรา 50 ที่เขียนเกี่ยวกับการศึกษา และในบทเฉพาะกาลยังกำหนดให้ปฏิรูปการศึกษาให้เสร็จภายใน 1 ปี หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ประกาศใช้ แสดงให้เห็นว่า กรธ. เห็นความสำคัญของการศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์ที่ ศธ. ต้องปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560
นอกจากนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ ยังระบุว่า ต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อปฏิรูปการศึกษา โดยยกร่างกฎหมายใหม่ เช่น การปรับโครงสร้าง ศธ. ซึ่งขณะนี้ สนช. ได้ร่างกฎหมายออกมาแล้ว 11 ฉบับ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ โดยจะใช้คู่ขนานกับสิ่งที่ ศธ. กำลังทำอยู่
ก็ต้องลุ้นกันว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 ร่างแรก จะผ่านการประชามติหรือไม่!!
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 ก.พ. 2559