ศธ.ย้ำชัด โครงการปลดหนี้ครู ใช้บำเหน็จช.พ.ค.ค้ำเป็นหลักประกัน หวังบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระดอกเบี้ย ให้ครูจ่ายหนี้ลดลงในแต่ละเดือน ปัดนำเงินในอนาคตของครูมาปล่อยกู้ ยืนยันครูเป็นหนี้ก็ต้องชดใช้ เบี้ยวชำระหนี้ไม่ได้ พร้อมแจงครูที่อยู่ในโครงการ ช.พ.ค. จะได้รับการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้ทุกคน
จากกรณี ธนาคารออมสิน เดินหน้าจัดโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้นำเงินในอนาคตบำเหน็จตกทอด และเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ยื่นขอสินเชื่อเพื่อนำไปปลดหนี้เก่ากับธนาคารออมสิน ซึ่งธนาคารออมสินจะลดดอกเบี้ยให้เหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี เพื่อช่วยลดภาระค่างวดให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า โครงการนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การนำเงินจาก ช.พ.ค. ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มา ใช้เพื่อปลดหนี้ครูนั้น ไม่ใช่เป็นการปล่อยกู้ ให้แก่ครู แต่โครงการดังกล่าวเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านภาระที่ต้องจ่ายหนี้พร้อมกับดอกเบี้ยที่สูงในแต่ละเดือนของครู ซึ่งหลักการลดดอกเบี้ยในโครงการนี้ คือ เมื่อครูกู้เงิน 1 ล้านบาท แต่ละเดือนต้องจ่ายหนี้พร้อมดอกเบี้ย 7,600 บาทต่อเดือน แต่เมื่อนำเงินในอนาคตจากโครงการ ช.พ.ค. ที่ญาติจะได้รับหลังจากครูเสียชีวิต 300,000-400,000 บาท มารีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยก็จะทำให้ครูจ่ายหนี้ลดลงเหลือ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น
รศ.นพ.กำจร เปิดเผยต่อว่า โครงการนี้ไม่ใช่ให้นำเงินในอนาคตของครูมาปล่อยกู้แต่อย่างใด แต่เป็นการลดภาระดอกเบี้ยให้ครูจ่ายหนี้ลดลง ไม่ใช่เป็นมาตรการปลดหนี้ทั้งหมดให้ครู ดังนั้นยืนยันว่าครูที่เป็นหนี้ ยังไงก็ต้องใช้หนี้ให้หมด ซึ่งครูที่อยู่ในโครงการ ช.พ.ค. ก็จะได้รับการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้ทุกคน.
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 ก.พ. 2559 (กรอบบ่าย)