กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ การศึกษา เสนอ ศธ.ปรับเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษา ยกเลิกข้อปฏิบัติที่ยุ่งยาก และให้เหลือเพียง 4 ขั้นตอนเท่านั้น และไม่เห็นด้วยมหาวิทยาลัยใช้มาตรฐาน TQF ของสถาบันอุดมศึกษา เพราะเกิดภาระซ้ำซ้อน เพิ่มงาน
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนและ กมธ.ได้เข้าพบ นพ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เพื่อนำเสนอรายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐาน ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาภายในของการศึกษาทุกระดับต่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้พิจารณาดำเนินการ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น เสนอให้ยกเลิกเกณฑ์การประเมิน การกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการจัดทำแผนการเรียนรู้ และการจัดการเรียนการสอน การกำกับการประเมินการจัดการเรียนการสอนและประเมินหลักสูตร ที่เป็นแบบฟอร์มอันเข้มงวดและเต็มไปด้วยรายละเอียดจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระงานเอกสารของคณาจารย์ในการกรอกและแก้ไขเอกสารที่นำไปสู่การคัดลอกข้อมูลลงแบบฟอร์มของคณาจารย์ เพื่อให้งานจบไปโดยไม่ใส่ใจต่อเนื้อหาและสร้างปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก
"คณะ กมธ.ยังได้เสนอให้เปลี่ยนเกณฑ์จากการประเมินแบบเดิม คือ การดำเนินงานให้ครบวงจรคุณภาพ 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน การดําเนินงานและเก็บข้อมูล การประเมินคุณภาพ และการเสนอแนวทางการปรับปรุง มาเป็นเกณฑ์การประเมินแบบ check list แทน เพื่อเป็นการลดภาระงานเอกสารที่เกิดจากการเขียนพรรณนาความ เพราะหากหลักสูตรมีระบบและกลไกในการบริหารก็ถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ที่เพียงพอแล้ว"
นายวิวัฒน์กล่าวอีกว่า คณะ กมธ.ยังเห็นว่าการใช้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา TQF มักทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ มีความซ้ำซ้อน และมีภาระงานที่ไม่เหมาะสมกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จึงเสนอให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประกาศคณะกรรมการประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในของสถาบันอุดมศึกษา โดยยึดหลักเสรีภาพทางวิชาการและความมีอิสระในการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษา ตามเจตนารมณ์ของกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 อย่างแท้จริง.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559