เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยธนาคารออมสินจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ให้กับผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยใช้เงินที่ทายาทจะได้รับในอนาคตเพื่อค้ำประกัน ทั้งเงินกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) หรือเงินบำเหน็จตกทอด นำมาขอเงินสินเชื่อใหม่ เพื่อลดภาระหนี้ หรือปิดบัญชีหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติให้ ว่า แนวทางนี้ดูเหมือนดี แต่ไม่ได้ดี และแก้ไม่ตรงจุด เพราะเป็นการให้วงเงินกู้ใหม่มาใช้หนี้เก่าในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งหากธนาคารออมสิน และกระทรวงการคลัง (กค.) ตั้งใจแก้ปัญหาหนี้สินครู และใจถึงจริงๆ ก็ประกาศลดดอกเบี้ยไปเลยทีเดียว ไม่จำเป็นต้องให้ครูมากู้อีก เพราะสุดท้ายจะวนกลับไปสู่ปัญหาเดิม เป็นการยั่วยุให้ครูเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก เพราะบางคนอาจกู้ส่วนต่าง เกินกว่าจำนวนหนี้ที่เป็นมาใช้ฟุ่มเฟือย ทำให้ครูกลายเป็นหนี้เพิ่มขึ้น แทนที่จะเป็นการปลดหนี้ จึงอยากให้รัฐบาลมองถึงวิธีการแก้ปัญหาหนี้สินครูในแนวทางอื่นๆ ด้วย
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มองว่ามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่ผ่อนปรนหนี้ให้ครูด้วยการนำเงิน ช.พ.ค.ที่ใช้ค้ำประกันเงินกู้มาตั้งเป็นวงเงินในการรีไฟแนนซ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ยังไม่ใช่ทางการแก้หาที่ตรงจุด ยังมีแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่า และแนวทางนี้เป็นเพียงการผ่อนปรน ซึ่งสุดท้ายจะทำให้กลับไปสู่ปัญหาเดิม คือเปิดช่องให้ครูกู้เงินเพิ่มขึ้น โดยนำเงินอนาคตมาใช้ ดังนั้น การปล่อยกู้ หรือให้ครูรีไฟแนนซ์ ต้องมีมาตรการ และข้อกำหนดชัดเจน รวมถึงต้องพูดคุยรายละเอียดกับครูให้เข้าใจด้วยว่าจะต้องปรับระเบียบการใช้เงินให้เป็นระบบมากขึ้น
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธนาคารออมสินจะเปิดให้กลุ่มครูที่เป็นหนี้กับธนาคารกว่า 4.7 แสนคน วงเงิน 4.74 แสนล้านบาท หรือหนี้ประมาณรายละ 1 ล้านบาท ที่สนใจลงทะเบียนเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เดิม โดยเงินที่ได้รับจะไม่เกินกว่าหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารออมสิน โดยจะลดดอกเบี้ยให้เหลือเพียง 4% ตลอดอายุสัญญา จากปัจจุบัน 6-7% ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ไม่สร้างผลกระทบให้ธนาคารออมสิน เพราะต้นทุนของธนาคารอยู่ที่กว่า 2% อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมโครงการต้องนำเงิน ช.พ.ค.มาค้ำประกันเงินกู้
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า โครงการลดภาระหนี้นี้จะช่วยลดภาระหนี้ให้ครู โดยครูที่เข้าเกณฑ์สามารถนำเงิน ช.พ.ค.ที่ทายาทจะได้รับในอนาคตมาตั้งเป็นวงเงินรีไฟแนนซ์ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะทำให้ลดเงินต้นที่ครูต้องผ่อนชำระได้ประมาณ 3-4 แสนบาท เพื่อให้ครูมีภาระผ่อนชำระหนี้ลดลงในแต่ละเดือน
"โครงการนี้ไม่ได้สร้างหนี้ให้ครูซ้ำซ้อน แต่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ครู โดยผมจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเกี่ยวกับแนวทาง และกติกาการปล่อยกู้ โดยเฉพาะการตรวจสอบสลิปเงินเดือน เพื่อตรวจสอบสถานะผู้กู้ว่ามีกำลังเพียงพอที่จะชำระหนี้หรือไม่ ซึ่งผมไม่ได้มีนโยบายห้ามกู้เงิน แต่ถ้าจะกู้ใหม่ต้องเพิ่มการตรวจสอบให้มากขึ้น ไม่ใช่ทำแบบเดิมที่ลูบหน้าปะจมูก อนุมัติกันโดยที่ครูมีเงินในบัญชีเหลือน้อย จากนี้การอนุมัติปล่อยกู้ให้ครู ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ยืนยันว่าจะดูแล และไม่ทิ้งครูแน่นอน แต่ถ้าครูไม่สามารถกู้ได้เนื่องจากไม่มีกำลังเพียงพอที่ ก็จะดูแลด้วยวิธีอื่นต่อไป" พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.กล่าวว่า มาตรการรีไฟแนนซ์เงินกู้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูของธนาคารออมสิน ที่จริงคือลดดอกเบี้ยให้ครูที่เป็นสมาชิก ช.พ.ค.แต่ไม่ใช่ลดโดยตรง เป็นการนำเงินที่เหลือจากวงเงินกู้เดิมมาค้ำประกัน หากผู้กู้ชำระเงินตรงตามเวลาจนครบจำนวนเงินกู้ เงินส่วนนี้จะไม่หายไปไหน เมื่อผู้กู้เสียชีวิต ญาติจะได้รับตามเดิม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสมาชิก ช.พ.ค.ประมาณ 990,000 คน เกือบทั้งหมดกู้เงินกับธนาคารออมสิน แต่มีบางส่วนที่ชำระหนี้ไปแล้ว ซึ่งผู้ที่ต้องการรีไฟแนนซ์จะต้องทำสัญญา จากนั้นธนาคารจะคำนวณเงินที่เหลือหลังจากหักหนี้ ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้น พบว่าผู้กู้ยังมีเงิน ช.พ.ค.ที่จะได้รับหลังจากเสียชีวิตเหลืออยู่ประมาณรายละ 3-4 แสนบาท และเงินตรงนี้จะใช้ค้ำประกัน เท่ากับได้ใช้หนี้ และได้ผ่อนชำระตามวงเงินกู้เดิมในอัตราดอกเบี้ย 4% จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 6.5%
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 12 ก.พ. 2559 (กรอบบ่าย)