ออมสินแจ้งโครงการลดภาระหนี้ครู นำมาใช้หนี้เก่าเท่านั้น ใจดีลดดอกเบี้ยเหลือ 4 % เป็นเวลา 20 ปี เลือกได้ 2 แนวทางนำเงินอนาคตมาจ่าย จาก ช.พ.ค. หรือ เงินบำเหน็จตกทอด
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ผ่านการพิจารณาจากครม. เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า เป้าหมายปล่อยสินเชื่อโครงการนี้ เพื่อนำมาใช้หนี้เก่าเท่านั้น โดยธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 4 % เป็นเวลา 20 ปี จากดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 6- 6.5% เพื่อช่วยลดภาระค่างวดให้กับครู ซึ่งให้เป็นมาตรการภาคสมัครใจไม่บังคับ โดยผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการเลือกใช้หลักประกัน ซึ่งจะเป็นเงินที่ทายาทจะได้รับในอนาคตได้ 2 ทาง คือ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว (ช.พ.ค.) ซึ่งจะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่ศพละ 1 บาท หากเสียชีวิตจะได้เงินค่าทำศพรวมกว่า 900,000 บาท หรือ เงินบำเหน็จตกทอด ซึ่งกรณีบำเหน็จตกทอดต้องการแก้กฎหมายให้สามารถใช้เงินนี้ได้ก่อนที่จะเสียชีวิตก่อน
ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีหนี้สินครูกว่า 400,000 ราย คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยกู้ให้ครู 470,000 ล้านบาท โดยมีหนี้เสียอยู่ 2,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.29% ของสินเชื่อรวม ส่วนเป้าหมายของโครงการนี้ คือครูและบุคคลากรทางการศึกษาที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากต้องเป็นผู้ที่รับราชการมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ถึงจะได้สิทธิเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวน 300,000 ราย หากมีครูสมัครใจเข้าโครงการนี้ 250,000 ราย เฉลี่ยวงเงินกู้ที่รายละ 300,000 บาท คิดเป็นมูลหนี้รวม 75,000 ล้านบาท ที่จะได้รับการปรับลดดอกเบี้ย ส่งผลดีช่วยลดภาระหนี้ได้ 2,000-4,000 บาทต่อเดือน
“แนวคิดโครงการนี้คือการเอารายได้ตัวเองในอนาคตมาใช้หนี้ตัวเอง ยกตัวอย่างคนมีเงินกู้เดิม 600,000 บาท ต้องเสียดอกเบี้ย 6% ถ้ามาเข้าโครงการนี้โดยการยอมให้หักเงิน ช.พ.ค. ที่จะได้ตอนเสียชีวิต 900,000 บาท ธนาคารแบ่งเงินเป็น 3 กอง คือ กองแรกให้ค่าทำศพ 200,000 บาท ที่เหลือ 300,000 แสนบาท จะกันไว้จ่ายหนี้ที่กู้ใหม่ และที่เหลืออีก 300,000-400,000 บาท เอาไว้เฉลี่ยจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยรายเดือนอีก 20 ปี เพราะขยายเวลาให้ชำระหนี้ได้ถึง 75 ปี ซึ่งเท่ากับว่าเงินกู้ 600,000 บาท แบ่งเป็น 2 กอง กองแรกที่เอา ชพค. ค้ำ 300,000 บาท ดอกเบี้ย 4% ไม่ต้องจ่ายรายเดือนแล้ว แต่จะเหลือหนี้อีก 300,000 บาท ดอกเบี้ย 6% ที่ยังต้องจ่ายต่อไปแต่ก็ถือว่าผ่อนภาระไปได้ครึ่งหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม หากผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีหนี้มากกว่าเงิน ช.พ.ค. หรือ เงินบำเหน็จตกทอด ก็จะดำเนินการลดหนี้ในส่วนเท่าที่มีก่อน และหลังจากนั้นผู้กู้ก็สามารถผ่อนชำระหนี้ที่ยังคงค้างอยู่ได้จนหมด ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้จะช่วยลดภาระจากการชำระได้เพิ่มขึ้น
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559