“ธีระเกียรติ”แจงข้อสอบโอเน็ตบนสังคมออนไลน์เป็นของหลายปีรวมกัน ยอมรับข้อสอบ สทศ.ยาก จี้ปรับปรุงการสอบทั้งระบบ ชี้การเขียนมาตรฐานหลักสูตรที่กว้างมาก ส่งผลให้การออกข้อสอบไม่ชัดเจน สั่ง สทศ.เปิดสเปคข้อสอบให้เด็กรู้ล่วงหน้า ขณะที่ “สัมพันธ์” ย้ำข้อสอบโอเน็ตยังไม่มีผิดพลาด
วันนี้ (10 ก.พ.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ( สทศ.) แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ทางสังคมออนไลน์ โดย นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ข้อสอบที่เผยแพร่นั้น เป็นข้อสอบโอเน็ตของหลายๆ ปีรวมกัน ไม่ใช่ข้อสอบโอเน็ตที่ใช้สอบในปีการศึกษา2558 ทั้งหมด มีเพียงข้อสอบวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ที่ถามเกี่ยวกับกฎหมายไทยข้อเดียวเท่านั้นที่เป็นข้อสอบโอเน็ตปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในภาพรวมข้อสอบของ สทศ. ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเมื่อดูผลสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ที่เพิ่งประกาศผลไปล่าสุด พบว่าแต่ละวิชาเด็กได้คะแนนต่ำมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 คะแนนเท่านั้น มีเพียงวิชาภาษาไทยที่ได้คะแนนเกินครึ่งวิชาเดียว ซึ่งการออกมาชี้แจงครั้งนี้ คงไม่ได้มาแก้ตัวอะไร แต่จะต้องมีการปรับปรุงทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำคือการกำหนดมาตรฐานหลักสูตร กลางน้ำ การจัดการเรียนการสอน และปลายน้ำคือการวัดประเมินผล
“การที่คะแนนเฉลี่ยเด็กไทยตกต่ำนั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่สะสมมานาน ซึ่งผลคะแนนที่ออกมาไม่ต่างอะไรกับการเดา ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันวิเคราะห์ว่าเกิดความผิดพลาดจากจุดใด และจากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่า ปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่การเขียนมาตรฐานหลักสูตรที่มีขอบเขตกว้างขวาง ไม่มีรายละเอียดชัดเจน ส่งผลต่อการออกข้อสอบที่บางครั้งคำถามไม่ชัดเจน ดังนั้นหลังจากนี้ผู้รับผิดชอบการเขียนหลักสูตรต้องไปปรับปรุง และการสอบทุกชนิด จะต้องมีการเปิดเผยสเปค และรายละเอียดของข้อสอบทั้งหมดว่าจะสอบเรื่องอะไร แบบไหน อย่างไร พร้อมยกตัวอย่างข้อสอบ ให้เด็กได้ทราบล่วงหน้า ไม่ใช่ให้เด็กต้องมาเซอร์ไพรส์ในวันสอบ ขณะเดียวกัน สทศ.ต้องประเมินความยากง่ายของข้อสอบก่อนสอบ ไม่ใช่ประเมินหลังสอบ” นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า ตนได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งมีหน้าที่ในการประเมินผลการศึกษาของประเทศ เชิญนักวิชาการ ตลอดจนสถาบันทดสอบที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ เช่น สิงคโปร์ อังกฤษ มาประเมินการทดสอบของ สทศ. เพื่อพัฒนาการทดสอบต่างๆ ให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับต่อไป ทั้งนี้ตนหวังว่า เมื่อมีการปรับระบบการออกข้อสอบแล้ว การออกข้อสอบที่ไม่ชัดเจนต้องไม่เกิดขึ้นอีก หากเกิดขึ้นจะต้องมีคนรับผิดชอบ
ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบในเบื้องต้นข้อสอบโอเน็ตชั้น ม.6 ที่จัดสอบ เมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.2559 ยังไม่มีข้อใดผิดพลาด ส่วนข้อสอบวิชาสังคมฯ ที่มีการเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ก็ไม่ตรงกับคำถามจริงในข้อสอบ ซึ่งเด็กอาจจะจำมาไม่ครบ เมื่อนำมาเผยแพร่ก็อาจทำให้มีการตีความผิดพลาดได้ โดยในสังคมออนไลน์ ถามว่า “ข้อใดไม่ใช่กฎหมายไทย” ขณะที่คำถามจริงถามว่า “ข้อใดต่อไปนี้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายไทย” ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องมีเพียงข้อเดียวคือ ข้อ 5 ที่ตอบว่า “นายเดือนหมิ่นประมาทชาวไทยด้วยกันในขณะท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น” เพราะถือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ต้องใช้กฎหมายในประเทศญี่ปุ่น สำหรับข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ขอชี้แจงว่าเป็นข้อสอบที่ใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในระบบรับตรง จึงต้องมีความยากกว่าข้อสอบโอเน็ต และยอมรับว่า ข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชาปีนี้ ยากกว่าปกติ มีอำนาจในการจำแนกต่ำ จึงทำให้คะแนนเฉลี่ยออกมาต่ำ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ สทศ. จะต้องไปพัฒนาข้อสอบ ให้มีความยากที่เหมาะสม ไม่ยากหรือง่ายเกินไป และสามารถคัดเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ตรงตามความต้องการของแต่ละคณะ และเด็กสามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559