โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
ภาพเด็กนักเรียนฟุบหลับ เท้าคาง ทำหน้าเบื่อหน่าย ถึงขั้นทนไม่ไหวลุกออกจากห้องก่อนเวลาอันควร ปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้งทุกช่วงมหกรรมการสอบแข่งขันระดับชาติ
ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์ของสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ประกาศผลการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา สำหรับเด็กนักเรียนที่จะสอบตรงกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ประจำปีการศึกษา 2559 ปรากฎว่า มีคะแนนเฉลี่ยผ่าน 50 % เพียงแค่วิชาเดียวคือภาษาไทย 50.65 % และต่ำสุดคือ คณิตศาสตร์ที่ 20.88 %
บรรดานักเรียนและผู้ปกครองต่างพร้อมใจกันเปล่งเสียงกันระงมว่า “ทำไมข้อสอบถึงยากเหลือเกิน”
3 ต้นตอเด็กทำข้อสอบไม่ได้
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้อสอบยากนั้นมีด้วยกัน 3 ประการ คือ
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) พยายามออกแบบข้อสอบ ให้เด็กต้องรู้ลึกและรู้รอบ แต่วิธีการเรียนการสอนของเด็กกลับเป็นไปในลักษณะท่องจำ ซึ่งขัดแย้งกับวิธีวัดผล จึงไม่สามารถทำข้อสอบได้
สทศ. พยายามออกแบบยกระดับข้อสอบให้พ้นไปจากโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาก็พยายามดักทางข้อสอบเรื่อยๆ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ปัญหาจึงตกอยู่กับเด็กที่พยายามวิ่งตามและเรียนอย่างหนักจนเกิดความกดดัน นอกจากนี้การให้ทำข้อสอบยากนั้นขัดกับนโยบายลดเรียนเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของกระทรวงการศึกษาด้วย
กลุ่มอาจารย์ส่วนใหญ่ที่ออกข้อสอบเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและโรงเรียนสาธิต ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้นมีน้อยมาก พูดง่ายๆคนสอนไม่ได้สอบ คนสอบไม่ได้สอน ออกแบบโดยไม่ดูความแตกต่างเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในเมืองและชนบท
"ความยากของข้อสอบ ทำให้เด็กไม่มีความสุข เครียด กดดัน และมีความทุกข์กับผลคะแนนที่ออกมา จนเริ่มตั้งคำถามว่าข้อสอบนั้นวัดศักยภาพที่แท้จริงของเขาได้หรือไม่ ผมมองว่าจุดเริ่มต้นของทางออกคือรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการต้องเป็นเจ้าภาพ นำ สทศ. สพฐ. มหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด มาร่วมกันหารืออย่างจริงจังเพื่อเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันให้ได้"
ไร้ความสอดคล้องระหว่างเรียนกับสอบ
หลายปีที่ผ่านมา เด็กนักเรียนจำนวนมากมักบ่นอยู่เสมอๆหลังเดินออกจากห้องสอบว่า เนื้อหามันยากเย็นเหลือเกิน ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต
รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ รองคณบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ชัดว่า ต้นตอของปัญหาคือความไม่สอดคล้องกันระหว่างหลักสูตรและการประเมินวัดผล ปัจจุบันโรงเรียนแต่ละแห่งสามารถเลือกเนื้อหาตำราเรียนเองได้ ทำให้ความลึกของแต่ละวิชาในแต่ละช่วงชั้นนั้นไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนหรือตายตัว ขอเพียงอยู่ภายใต้มาตรฐานแกนกลางที่กระทรวงกำหนดไว้กว้างๆ ความหลากหลายตรงนี้จึงนำไปสู่ปัญหาในการวัดผล
“มาตรฐานการวัดผลภายในโรงเรียน ค่อนข้างสอดคล้องกับสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้จากห้องเรียน แต่พอเป็นการวัดผลระดับประเทศ ข้อสอบกลางอย่างโอเน็ตจะพบปัญหาทันที เพราะระดับการสอนในห้องเรียนของแต่ละแห่งนั้นมีเนื้อหาระดับความลึกและความหลากหลายไม่เท่ากัน แต่กลับต้องมาเจอกับข้อสอบที่มีความลึกเหมือนกัน ทำให้เสี่ยงมากที่จะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จริงในห้อง พูดง่ายๆว่าคุณหลากหลายในการเรียน แต่สอบแบบเดียวกัน จนเกิดเป็นความลักลั่นไม่สอดคล้อง ตัวอย่างเช่นวิชาสังคมศึกษาที่ถามเรื่อง "นางจูฬสุภัททา" บางโรงเรียนไม่ได้เรียน บางโรงเรียนไม่รู้จักชื่อนี้เลยด้วยซ้ำ ไม่มีมาตรฐานของเนื้อหาตรงกลางที่ทุกคนรู้ว่าต้องสอนหรือเรียนอะไร เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เเละตราบใดที่คนออกข้อสอบยังเชื่อว่าเด็กทุกคนต้องรู้เเบบนี้เท่านั้น เสียงบ่นเรื่องข้อสอบก็ไม่มีวันจางหายไป”
รศ.ดร.ศิริเดช บอกว่า การเรียนพิเศษของเด็กถือเป็นเรื่องจำเป็นในปัจจุบัน ที่ผ่านมาเคยทำการวิจัยวิเคราะห์สิ่งที่ครูสอนกับสิ่งที่เด็กต้องไปสอบจริง พบว่า แทบไม่มีความสอดคล้องกันเลย ลำพังความรู้ที่เด็กได้รับจากโรงเรียนอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ซึ่งครูมีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการสอน และอื่นๆอีกมากมาย จนทำให้ไม่สามารถสอนได้ในระดับโรงเรียนกวดวิชา
"ผลของการแห่ไปเรียนพิเศษก็คือ ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนับวันจะยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนออกข้อสอบจะพยายามพัฒนาเนื้อหารูปเเบบให้เเตกต่างไปจากสำนักติว เนื่องจากหากออกข้อสอบด้วยความยากเท่าเดิม เด็กจะทำได้กันเยอะมาก และจำแนกไม่ออกว่าใครควรอยู่คณะไหน จนคะแนนขึ้นไปติดเพดาน ระบบนี้เด็กที่ได้เปรียบก็คือเด็กที่มีโอกาส โดยเฉพาะคนในเมือง พวกเขาวิ่งตามได้ แต่เด็กที่ด้อยโอกาสจำนวนมากในสังคม จะถูกถ่างโอกาสที่น้อยอยู่แล้วให้น้อยลงเรื่อยๆ”
Advertisement
ดร.ศิริเดช บอกว่า โจทย์หลักในการตั้งมาตรฐานความรู้ของนักเรียนเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องทบทวนให้ตรงกับวัตถุประสงค์หลักของการสอบโอเน็ต หรือการวัดผลมาตรฐานทางการศึกษา
“มาตรฐานระดับความลึกของเนื้อหาเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องกลับมาตั้งหลักและทบทวน เพื่อแจ้งให้ผู้สอนและผู้เรียนได้ทราบว่า ความรู้ระดับไหนที่ชี้วัดว่าเป็นมาตรฐาน เเละมาตรฐานต้องเป็นขั้นต่ำไม่ใช่ขั้นสูง เพื่อเป็นการบ่งบอกว่า การจัดการศึกษาของประเทศทำให้เด็กมีการเรียนรู้ถึงเกณฑ์มาตรฐาน มันอาจทำให้เด็กบางโรงเรียนได้คะแนนสูงจำนวนมาก เเต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะแปลว่าพวกเขาได้มาตรฐาน ปัจจุบันคนออกข้อสอบมีความคิดว่าหากเด็กทำข้อสอบได้กันเยอะแปลว่าข้อสอบไม่ดี ซึ่งจริงๆเเล้วไม่ใช่ เราต้องมีมาตรฐานความลึกกลางๆ ถ้าเราไปหนีข้อสอบให้ห่างจากความรู้ที่เขาได้เรียนจริงในห้อง มันจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆอีกมากมาย เพราะสิ่งที่สอบกับสิ่งที่สอนมันตามกันไม่ทัน”
เลิกปลูกฝังระบบ"แพ้คัดออก"
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าผู้ออกข้อสอบคงกำลังสะใจอย่างมากที่เห็นผู้แพ้เพิ่มมากขึ้น
“ข้อสอบยากขึ้นทุกปีเพื่อหาผู้แพ้ให้ได้ คนออกข้อสอบคงสะใจมากที่เด็กทำข้อสอบไม่ได้ เห็นได้ชัดว่าความยากของข้อสอบนั้นเป็นปัญหาทุกปี มีสถานะอย่างนี้มาต่อเนื่องจนไม่เข้าใจว่าผู้ออกข้อสอบแกเมาหมัดหรืออย่างไร พอมีปัญหาก็ออกมาแถลงข่าวโน่นนั่นนี่ แต่ไม่เห็นการพัฒนาหรือยกระดับการศึกษาในปีถัดมาแต่อย่างไร ระบบแบบนี้ไม่มีเด็กคนไหนหรือผู้ปกครองคนใดอยากเป็นผู้แพ้
ทางออกของเด็กๆคือ การหันหน้าพึ่งโรงเรียนกวดวิชากันอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายและขัดแย้งกับนโยบายของเจ้ากระทรวงอย่างพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการที่ประกาศว่า“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จนกลายเป็นคำถามว่า พวกเราจะเดินไปสู่นโยบายที่ว่านั้นอย่างไร เมื่อระบบการเรียนการสอนไทยคือระบบแพ้คัดออก
ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งเกรดเฉลี่ย4.00ได้คะแนนโอเน็ตเต็ม100แต่กลับไม่เคยคิดจะทำอะไรเพื่อส่วนรวม มีความเห็นแก่ตัวสูง กับเด็กอีกคนได้เกรดเฉลี่ย3.00กว่า โอเน็ตได้80คะแนน แต่เต็มร้อยกับกิจกรรมเพื่อส่วนร่วม เรื่องนี้ยังไม่เคยมีเจ้ากระทรวงท่านใดบอกว่าตกลงจะเลือกเด็กคนไหนขึ้นเป็นที่หนึ่งของประเทศ เราไม่เคยให้น้ำหนักความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับสังคม นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้จะเป็นผลได้อย่างไร
โรงเรียนบางแห่ง พ่อแม่จับกลุ่มเป็นก๊กเป็นเหล่า เมื่อคุณครูมอบหมายกิจกรรมให้ลูก กลุ่มพ่อแม่จะช่วยกันทำ เพื่อให้ลูกมีเวลาไปติวหนังสือ ผลคะแนนออกมาก็นำไปเกทับกับกลุ่มอื่นว่าลูกของฉันเก่งกว่า เรื่องแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบแพ้คัดออกได้ส่งเสริมภาพสังคมแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น จนกลายเป็นความเห็นแก่ตัว"
นพ.สุริยเดว บอกว่า ถึงเวลาที่ผู้ออกข้อสอบต้องทบทวนตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่กับระบบและเด็กที่ไร้โอกาส ไม่มีพ่อแม่มานั่งซัพพอร์ต ไม่อย่างนั้นผู้แพ้จะกลายเป็นชนชั้นด้อยโอกาส และเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในสังคม ทุกวันนี้เด็กที่เอาชนะระบบในปัจจุบันมากมายที่เอาตัวไม่รอดหรือขาดคุณภาพในการใช้ชีวิต เรียนเยอะจนไม่หลงเหลือเวลารู้เท่าทันสื่อ เพศศึกษา สุขภาวะหรือภัยพิบัติธรรมชาติ สอบได้คะแนนดีใช่ว่าจะการันตีคุณภาพในการใช้ชีวิตของคนผู้นั้น
นพ.สุริยเดว บอกว่า ระบบการเลื่อนชั้นสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นต้องถูกปรับเปลี่ยน คล้ายกับระบบอุตสาหกรรมในภาคเอกชน เมื่ออยากได้วัตถุดิบที่ดีเพื่อสินค้ามีคุณภาพ การลงไปตรวจสอบคัดเลือกวัตถุดิบด้วยตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ
"ระดับอุดมศึกษาควรทำข้อตกลงจับมือกับระดับมัธยม ลงมาตรวจสอบคุณภาพการเรียนการสอนด้วยตัวเอง เปลี่ยนการเรียนการสอนจากการนั่งเรียนหน้าชั้นไปสู่การถกเวทีอภิปรายเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการค้นคว้าหาความรู้ ทำให้ทุกคะแนนที่เขาได้เกิด มีที่มาจากความสามารถของตัวเอง ลงไปล้วงลูกเองแบบนี้ ท่านจะได้สินค้าที่คุณภาพ ค่อยๆพัฒนาจนเกิดพื้นที่การเรียนรู้ลักษณะนี้ ณ ปัจจุบันเราไม่เห็นฝั่ง ไม่เห็นอนาคตที่ดีในอีก10ข้างหน้า เด็ก ม.4วันนี้กำลังนั่งต้องอ่านหนังสือ ม.6 เรียนวิชาที่ไม่ตรงกับศักยภาพของตัวเอง”
ปัญหาข้อสอบยาก กลายเป็นปัญหาคลาสสิคในวงการศึกษาไทยที่สังคมพูดถึงเสมอในทุกฤดูกาลสอบ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ขอบคุณที่มาจาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559