"ศ.ดร.สมพงษ์" เห็นด้วยไอเดีย สพฐ. ปรับรูปแบบสอบคัดเลือกครูแบบเดียวกับ ก.พ. ยอมรับห่วงสทศ.สอบคัดครู เกิดผิดพลาดซ้ำรอยสอบเด็ก
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เสนอแนวคิดปรับกระบวนการจัดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย จากเดิมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)ดำเนินการ มาเป็นให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ทำแทนตั้งแต่ออกข้อสอบจัดสอบ ในรูปแบบเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จัดสอบภาค ก และภาค ข ส่วนกลาง แต่ในภาค ค การสัมภาษณ์ให้เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้สัมภาษณ์เองเชื่อว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณและเก็บคะแนนไว้ได้ถึง 2 ปี โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบสำนักงานคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปศึกษารายละเอียด
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กระบวนการสอบคัดเลือกครูที่ผ่านมามีปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะเขตพื้นที่ฯ การศึกษาไม่ได้ดำเนินการออกข้อสอบเอง แต่ให้มหาวิทยาลัยมาทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ซึ่งตรงนี้ทำให้มาตรฐานความน่าเชื่อถือแกว่งและไม่สามารถยืนยันได้ว่าการสอบคัดเลือกครูที่เกิดขึ้นในทุกปีนั้น สามารถคัดครูที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพได้เท่าที่ควรจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดที่ สพฐ.เสนอให้สทศ.ดำเนินการจัดสอบมาในลักษณะเดียวกับ ก.พ.คือสอบภาค ก และภาค ข โดยส่วนกลางนั้น เพื่อให้การสอบเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศและเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เข้าสอบ
“ถึงจะเห็นด้วยกับรูปแบบดังกล่าวแต่ก็มีความเป็นห่วงและกังวล ในประเด็นหน่วยงานที่จะมาออกข้อสอบว่า สทศ.จะสามารถออกข้อสอบได้มาตรฐานจริงหรือไม่ เพราะถ้าพิจารณาจากประสบการณ์ในการจัดทดสอบต่างๆ อาทิ การทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ที่ผ่านมาก็จะพบว่ามีปัญหาข้อสอบผิดพลาด มีข้อถกเถียง มีการให้คะแนนเพิ่ม เป็นต้น เกิดเป็นข้อถกเถียง ขณะที่การจัดสอบโดย ก.พ.ไม่พบปัญหานี้เหล่านี้เลย ซึ่งไม่ได้หมายความว่า สทศ.ไม่ดีเพียงแต่ถ้าจะให้สทศ.ดำเนินการจริงต้องกำชับว่าห้ามเกิดความผิดพลาดเด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคัดเลือกคนเข้าสู่ระบบ คะแนนทุกคะแนนมีผลต่อชีวิตครู”ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญต้องศึกษารายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะข้อกฎหมาย เพราะภารกิจของ สทศ.คือจัดการทดสอบเพื่อวัดความรู้ของเด็ก ไม่ใช่สอบคัดเลือกครู ถ้าจะให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะต้องดูว่าในทางกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559