โดย เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ความเหลื่อมล้ำกับความเท่าเทียมเป็นวาทกรรม ทำให้อภิปรายได้หลายเรื่องและหลายมิติ อย่างการอุดมศึกษาของไทย มีมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 170 แห่ง มหาวิทยาลัยของรัฐ 80 แห่งมีกฎหมาย 80 ฉบับ มหาวิทยาลัยเอกชน 80 แห่งมี พรบ.อุดมศึกษาเอกชนเพียงฉบับเดียว
แม้สังคมไทยมีความหลากหลาย ไม่ได้มีแต่ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ แต่มีภาคเกษตร มีชุมชนหมู่บ้านชนบท มีคนจนคนรากหญ้า แต่มหาวิทยาลัยไม่เปิดโอกาสให้มีการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความหลากหลายของสังคม
สังคมเปลี่ยนไปเป็นสังคมดิจิตอล แต่การศึกษายังอานาลอค เป็นสังคมข้อมูลข่าวสารความรู้ แต่การอุดมศึกษายังเป็นแบบอุตสาหกรรม ผลิตคนไปรับใช้สังคมมิติเดียว ซึ่งในความเป็นจริงก็ยังมีปัญหา เพราะการศึกษาที่ล้าหลัง เรียนหนังสือ ไม่เรียนชีวิตและความเป็นจริง จึงตอบได้แต่ข้อสอบอาจารย์ แต่ไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิต โจทย์สังคม หรือแม้แต่โจทย์นายจ้างโรงงานอุตสาหกรรมหรือบริษัททั้งหลายที่อุดมศึกษาบอกว่าจะพัฒนาคนไปรับใช้
กรณีการเกิดของ “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน” ที่รู้จักกันทั่วไปว่า “มหาวิทยาลัยชีวิต” ความพยายามที่จะจัดการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาที่ตอบโจทย์ชุมชน โดยเฉพาะคนในชนบท ในภาคเกษตรกรรม เรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เอาศักยภาพของตนมาพัฒนา เอาปัญหาของตนและของชุมชนมาแก้ไข ไม่ใช่ท่องหนังสือไปสอบ
สำนักงานอุดมศึกษามีกรอบเดียว มาตรฐานเดียว อ้างว่ามีกฎหมายเดียว จึงตรวจสอบ ประเมินสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนเช่นเดียวกับที่ทำกับจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ เอแบค ซึ่งเขียนวิสัยทัศน์และมีพันธกิจแตกต่างไปจากสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน “มาตรฐานอ้างอิง” หรือ “มาตรฐานเทียบเคียง” (benchmark) จึงควรแตกต่างกัน
ไม่เช่นนั้น ไปวัดกี่คนกี่คณะ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนก็สอบตก เพราะไป “ถามไม่ตรงคำตอบ” ไม่ใช่เพราะสถาบันนี้ “ตอบไม่ตรงคำถาม”
ความจริง วิธีการวัดแบบที่ทำกันนั่นแหละที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะที่ไปวัดๆ สถาบันอุดมศึกษาทั่วไปนั้น วัดไม่ได้จริง เพราะครั้งแรกสอบตก ครั้งต่อไปมหาวิทยาลัยเหล่านั้นก็กลับได้คะแนนดีมาก เพราะรู้ทาง ถึงกับออกมาเยาะเย้ย สกอ.ว่า ที่คราวนี้สอบผ่านไม่ใช่เพราะได้ปรับปรุงอะไรเลย แต่ได้ตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาเพื่อไปทำเอกสาร จัด “คำตอบให้ตรงคำถาม” ของผู้ประเมิน อยากได้อะไรจัดให้เต็ม
ประเทศไทยมีมาตรฐานการศึกษาแบบนี้นี้เอง สังคมถึงมีปัญหา เพราะการศึกษาที่ไม่ได้ประเทืองปัญญา เอาแต่หลอกตัวเองหลอกคนอื่นไปวันๆ
โลกเปลี่ยนไปนานแล้ว แม้แต่การวัดการประเมินความเจริญพัฒนาก็เปลี่ยนไป ไม่ใช่เอาแต่ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติกันร่ำไปเหมือนเดิม แต่มี GDH หรือความสุขมวลรวมประชาชาติแบบภูฏาน หรือ HDI Human Development Index ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติ หรือไปให้อีกสุดขั้ว คือ HPI Happy Planet Index หรือ ดัชนีโลกที่อยู่เย็นเป็นสุข ที่เอ็นจีโอเล็กๆ ทำและมีผลกระทบไปทั่วโลก
การพัฒนาประเทศเขาวัดกันไม่เพียงแต่รายได้หรือเศรษฐกิจ แต่วัดที่สิ่งแวดล้อม สังคม ชีวิตความเป็นอยู่อย่างรอบด้าน การใช้เงิน การใช้ทรัพยากรของตนเองและของโลก ดูความคุ้มค่า ดูผลที่เกิดขึ้นกับตนเองและต่อผู้อื่น ต่อสิ่งแวดล้อมโลก
การวัดผลสัมฤทธิ์ทางอุดมศึกษาของไทยจึงไม่ควรมีกรอบคิดเดียว เครื่องมือเดียว คนกลุ่มเดียวที่คับแคบแบบหัวสี่เหลี่ยม ควรอ่านวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ของแต่ละสถาบันให้ดี มีเวลาลงไปคลุกไปเรียนรู้ว่าเขาจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างไร ได้ผลที่ไม่ได้วัดด้วยตัวเลขและกระดาษอย่างไร
อยากถามเหมือนกันว่า รัฐลงทุนอุดมศึกษาให้มหาวิทยาลัยของรัฐไปนี่เคยประเมินว่าคุ้มค่าคุ้มทุนแค่ไหน แต่ละปี รัฐให้การอุดหนุนเฉลี่ยต่อหัวต่อนักศึกษาเท่าไร แต่ละสาขาแตกต่างกันไป นอกจากได้รับงบประมาณจากรัฐแล้ว มหาวิทยาลัยต่างๆ ยังเก็บจากนักศึกษาอีก หลายแห่งหลายคณะหลายสาขาสูงกว่าค่าเทอมของมหาวิทยาลัยเอกชนอีก ทั้งๆ ที่รัฐไม่ได้ให้งบประมาณสนับสนุนมหาวิทยาลัยเหล่านี้เลย
กลับมาที่ความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม อยากให้มีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่อ่านแล้วไม่เจอ ทั้งๆ ที่มีอยู่รัฐธรรมนูญหลายฉบับของไทย และของประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้ว (รัฐธรรมนูญของเยอรมันเริ่มต้นว่า “มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน”)
รัฐควรพิจารณาว่า การส่งเสริมการศึกษาทุกระดับควรเป็น “ต่อหัว” หรือไม่ ไม่ว่ารัฐจะจัดการหรือเอกชนจะจัดการ ก็ให้การสนับสนุนเท่าเทียมกัน อย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาทำกัน
ยิ่งกว่านั้น ควรจัดให้มีการ “เรียนฟรี” แบบ “กรอ.” ในยุครัฐบาลก่อนๆ (ทุกคณะทุกสาขา ไม่ใช่จำกัดเฉพาะบางสาขาอย่างวันนี้) จบแล้วถ้าทำงานมีรายได้เสียภาษีจึงให้ค่อยๆ จ่ายคืน หรือรูปแบบอื่น (รวมทั้งที่นายเบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครประธานาธิบดีอเมริกากำลังเสนอเป็นนโยบายอุดมศึกษาเรียนฟรี)
ถ้า “ชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน” อย่างปราชญ์เขาว่า ก็น่าปฏิรูปการอุดมศึกษาให้มีความหลากหลาย หลายไซซ์ หลายทรง ไม่ใส่เสื้อผิดไซซ์จนหัวเราะไม่ออกอย่างวันนี้
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559