"ดาว์พงษ์"เผย ครม.ไฟเขียวใช้เงินช.พ.ค.มาตั้งเป้นวงเงินรีไฟแนนซ์หนี้สินครู ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ "นายกฯ"กำชับลงโทษทางวินัยครูตั้งใจเบี้ยวหนี้
วันนี้ (9 ก.พ.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูโดยจะผ่อนปรนหนี้ให้ครูด้วยการนำเงินโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.)ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสิดการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ใช้ค้ำประกันเงินกู้มาตั้งเป็นวงเงินในการรีไฟแนนซ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งต่อไปครูที่เป็นหนี้และเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้ปรับลดเงินต้นลง ประมาณ 3-4 แสนบาท นั่นหมายความว่าจะทำให้การผ่อนส่งแต่ละงวดลดลง แต่จะปรับลดเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับอายุของผู้กู้แต่ละคนด้วย
“แนวทางดังกล่าวสามารถช่วยลดภาระหนี้ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ สกสค. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคารออมสิน สหกรณ์ออมทรัพย์ครู มาหารือเพื่อทบทวนแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครูรอบแรก และพบประเด็นปัญหาว่าที่ผ่านมา สกสค.และธนาคารเองก็เปิดช่องให้กู้ง่ายเกินเหตุ อาทิ ปล่อยกู้วงเงิน 3 ล้านบาทโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ใช้เพียงผู้ค้ำ 10 คน ซึ่งใน10 คนก็ยังหมุนเวียนกันค้ำและไม่มีการกำหนดว่าผู้ค้ำต้องมีเงินเดือนมากกว่าผู้กู้หรือไม่ เป็นต้น ขณะเดียวกันแม้จะเปิดช่องให้กู้ง่าย แต่ถ้าต้นสังกัดมีการตรวจสอบบัญชีเหลือจ่ายอย่างเข้มข้นก็จะไม่เกิดปัญหา แต่ที่ผ่านมาก็ทำงานลูบหน้าปะจมูกกันทั้งที่ในบัญชีไม่มีเงินเหลือแล้วก็ยังปล่อยกู้กันไปจนเกิดปัญหาสะสม ซึ่ง ศธ.ต้องมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าไปลดหนี้ให้ครู แต่เป็นการที่ครูนำเงินอนาคตของตนเองมาใช้หนี้และ ยืนยันว่าไม่ได้ห้ามปล่อยกู้ หากครูมีความจำเป็นก็ยื่นขอกู้ได้
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้ทั้งศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบว่าการที่ครูไม่ชดใช้หนี้แท้จริงเพราะไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้จริงหรือไม่ หรือ มีความสามารถแต่มีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้ ซึ่งหากพบว่ามีเจตนาจริงก็อาจจะต้องพิจารณาให้ดำเนินการลงโทษทางวินัยด้วย เพราะเท่ากับว่าไม่ได้เดือดร้อน แต่ทำให้คนเดือดร้อน เหมือนกับกรณีนักเรียนทุนไม่กลับมาใช้ทุนคนค้ำประกันก็เดือดร้อนไปด้วยดังนั้น จากนี้ ศธ.ต้องมากำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ว่า ถ้าจะประเมินว่าครูเจตนาชำระหนี้ หรือ เจตนาไม่ชำระหนี้จะพิจารณาจากอะไรบ้าง.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559