เริ่มต้นชีพจรครู ปี 2559 กับข่าวดี ในแวดวงแม่พิมพ์ ถือเป็นของขวัญรับศักราชใหม่ เริ่มจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ). ประเดิมโอนเงินซ่อมแซมบ้านพักครูช่วงแรก 1,111 หลัง เพื่อเป็นของขวัญวันครูและให้กำลังใจครู ส่วนช่วง 2 อีก 1,064 หลัง รอไตรมาส 2 กลางปีนี้
โดย นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการให้ครูมีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดี จึงมีนโยบายซ่อมแซมบ้านพักครูในโรงเรียนในวงเงินหลังละ 200,000 บาท เพื่อเป็นของขวัญ และเป็นขวัญกำลังใจให้ครู โดย สพฐ.ได้ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศทั้ง 225 เขต ส่งข้อมูลการซ่อมบ้านพักครูเข้ามา พบว่ามีบ้านพักครูจำนวน 2,175 หลัง จากจำนวนที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 44,000 หลัง ที่มีความต้องการซ่อมแซมในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความจำเป็นเพื่อการจัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านพักครูให้แก่โรงเรียน ซึ่งเบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก จำนวน 1,111 หลัง เป็นเงิน 219 ล้านบาทเศษ โดย สพฐ.จะโอนเงินงบประมาณไปให้ สพท. ดำเนินการ ส่วนช่วงที่ 2 อีก 1,064 หลัง คาดว่าจะจัดสรรงบประมาณได้ภายในไตรมาสที่ 2 ในการซ่อมแซมนั้น สพฐ.กำชับว่าให้ดำเนินการในส่วนที่จำเป็นและสำคัญต่อการพักอาศัยก่อน เช่น หลังคา พื้นที่ชำรุดเสียหาย เป็นต้น
อีกข่าวของแวดวงแม่พิมพ์ ที่ต้องลุ้นและตามติด ล่าสุด พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสอบคัดเลือกครู และมีแนวคิดจะปรับระบบการสอบจากเดิมที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระบุให้ สพท.เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ แต่ในทางปฏิบัติ สพท.ก็จะไม่ได้ออกข้อสอบเอง ไปจ้างสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยในพื้นที่ออกข้อสอบและดำเนินการจัดสอบให้ ซึ่งก็จะมีปัญหาความลำเอียงในมาตรฐานของข้อสอบ ความยากง่ายไม่เท่ากัน อีกทั้งการที่ให้แต่ละ สพท.จัดกันเองหรือต่างคนต่างจัด ยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณด้วย ถึงปีละประมาณ 80 ล้านบาท
ดังนั้น สพฐ.จึงได้เสนอให้มีการปรับกระบวนการจัดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย จากที่ให้แต่ละ สพท.ดำเนินการเอง มาเป็นให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ดำเนินการตั้งแต่ออกข้อสอบ รูปแบบการจัดสอบ เป็นลักษณะเดียวกับสอบเข้ารับราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ดำเนินการสอบภาค ก และ ภาค ข โดยส่วนกลาง แล้วหน่วยงานราชการที่ต้องการ ก็เรียกไปสัมภาษณ์ ภาค ค ซึ่งในที่นี้ก็คือ สพท. ฉะนั้น สพท.จะเปิดรับครูเมื่อไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดรับพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงเป็นเพียงแนวคิด โดยที่ประชุมได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปดูข้อกฎหมายก่อนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่
แถมอีกหนึ่งข่าวดีสำหรับเด็กๆ โรงเรียนห่างไกลที่มักจะมีปัญหาขาดผู้บริหาร ทำให้การพัฒนาการเรียนการสอนเป็นไปอย่างล่าช้า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษที่เป็นเกาะ บนภูเขาสูง หุบเขา หรือเชิงเขา ที่ไม่สามารถเดินทางด้วยพาหนะใดๆ ได้สะดวกตลอดปี หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ สังกัด สพฐ.
โดยล่าสุด สพท. ได้เสนอรายชื่อสถานศึกษาให้ สพฐ.พิจารณากำหนดเป็นสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ แล้วจำนวน 37 สพท. รวม 171 โรงเรียน แบ่งเป็น ผอ.สถานศึกษา 154 อัตรา รอง ผอ.สถานศึกษา 19 อัตรา รวม 173 อัตรา ขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดเป็นสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ เพื่อให้เขตพื้นที่ฯ ไปดำเนินการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559
ผู้สนใจสมัคร สามารถเลือกสถานศึกษาได้เพียงแห่งเดียวภายในเขตพื้นที่ฯ หากสมัครเกินกว่า 1 แห่ง ใช้วิธีการคัดเลือก จะประเมิน 4 ด้าน คือ 1.ประวัติและประสบการณ์ 2.ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาและผลงานที่ภาคภูมิใจ 3.แนวคิดในการพัฒนาสถานศึกษาที่สมัครคัดเลือก และ 4.สัมภาษณ์ ผู้ได้รับการคัดเลือก จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษานั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
เรียกว่ามีทั้งเรื่องดีๆ และเรื่องที่ต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป "ชีพจรครู" ครั้งหน้าไม่พลาดนำมาฝากกันแน่นอน
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 10 ก.พ. 2559 (กรอบบ่าย)