"ฟินแลนด์ vs ไทย อะไรคือกุญแจแห่งความสำเร็จทางการศึกษา" บทความที่น่าสนใจจากโอเคเนชั่นบล็อกยอดนิยมของไทย ที่โพสต์โดยสมาชิกชื่อคุณ โชดก ที่โพสต์เรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ วันศุกร์ ที่ 5 กันยายน 2557 แต่เป็นเนื้อหาที่อ่านแล้ว ทำให้เราเข้าใจอะไรเกี่ยวกับระบบการศึกษาของฟินแลนด์ได้มากขึ้น ผ่านวิธีการเขียนที่อ่านเข้าใจง่าย ใช้ภาษาเป็นกันเอง ลองอ่านดูนะครับ แล้วท่านจะได้อะไรดีๆ มาคิดต่ออีกเยอะเลยครับ
วันศุกร์ ที่ 5 กันยายน 2557
ฟินแลนด์ vs ไทย อะไรคือกุญแจแห่งความสำเร็จทางการศึกษา
Posted by โชดก www.oknation.net/blog/ministryoflearning
สวัสดีคุณผู้อ่าน สัปดาห์ที่ผ่านมาเว้นว่างไปเนื่องจากผมได้เข้าร่วมการประชุม “มองไทย – มองเทศ เปลี่ยนเพื่อเรียนรู้การศึกษาไทย” จัดโดยสถาบันอาศรมศิลป์ซึ่งได้เชิญนักการศึกษาจากประเทศฟินแลนด์มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้คร่ำหวอดในวงการศึกษาไทย เพื่อระบุปัญหาและหาทางออกกันอย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลา 3 วันเต็ม นับเป็นโชคดีของผมที่ได้เรียนรู้แนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาจากกรณีศึกษาที่น่าจับตาที่สุดของโลกเทียบกับมุมมองในการวิเคราะห์ปัญหาของผู้มีประสบการณ์ระดับประเทศ
สำหรับการศึกษาของฟินแลนด์นั้น คุณผู้อ่านน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่านักการศึกษาทั่วโลกยกย่องในความเป็นเลิศขนาดไหน เคยสงสัยมั้ยว่าเขาทำอะไรและทำอย่างไร ซึ่งใน Ministry of Learning สัปดาห์นี้จะมาไขความลับที่ว่านั้นให้คุณผู้อ่านได้รับทราบกันในเชิงของกรณีศึกษาเปรียบเทียบง่าย ๆ แล้วกัน โดยผมได้เรียบเรียงประเด็นน่าสนใจว่ามีจุดไหนที่ต่างกันแบบจะจะ แบ่งเป็น 7 ประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 ฟินแลนด์ต้องการอะไรจากการศึกษา? คำตอบคือ “สร้างประชากรที่ดีของโลก” ซึ่งของไทยคือ “เก่ง ดี มีความสุข” ก็เก๋ทั้งคู่แหละ ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจคือตอนจัดจริง ๆ มากกว่า เนื่องจากฟินแลนด์ใช้การศึกษาเป็น “กลไก” ในการพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้และความพร้อมที่จะมาอยู่ร่วมกันในอนาคตโดยการบ่มเพาะค่านิยมที่จำเป็น รวมถึงส่งเสริมให้เด็กค่อย ๆ ค้นพบศักยภาพของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ต่างกับบ้านเราที่มองการศึกษาเป็น “เครื่องประดับ” เอาไว้ชูหน้าชูตา เราถึงเห็นความพยายามในการยกระดับคะแนน O-Net เอย คะแนน PISA เอย หรือแต่ละบ้านที่ตั้งธงไว้ว่าลูกต้องจบปริญญาตรี สาขาอะไรจบมาเหอะ แค่นี้ก็เห็นภาพชัดแล้วนะว่าอะไรอื่น ๆ จะต่างกันอีกแค่ไหน
ประเด็นที่ 2 ฟินแลนด์มีกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่? คำตอบคือ “มี” แต่มีอำนาจน้อยมาก เพราะพื้นฐานแล้วฟินแลนด์เป็นสังคมเกษตรที่ประชากรกระจายตัวไปอยู่อาศัยกันในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้แต่ละท้องถิ่นต้องทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาขึ้นมาเอง กระทรวงศึกษาธิการฟินแลนด์มีหน้าให้แนวทาง กรอบหลักสูตร ตัวอย่างข้อสอบ และ ระบบการสนับสนุนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการแต่งตั้ง โยกย้าย ปรับขั้น ซึ่งรวบ ควบ และ กระจุกตัวกันอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการแบบบ้านเรา ดังนั้นเขาไม่ต้องเสียเวลาเรื่องการกระจายอำนาจ หรือ การจัดสรรงบ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นและเบ็ดเสร็จได้เองในแต่ละพื้นที่เป็นอิสระจากกัน ทำให้การทำงานคล่องตัว ลดขั้นตอน และ พิธีการที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนได้มาก
ประเด็นที่ 3 ฟินแลนด์ฝึกครูอย่างไร? คำตอบคือ “หนักมาก” นักศึกษาครูที่ฟินแลนด์จะเรียนจบปริญญาโท โดยประกอบด้วยปริญญาตรี 3 ปี และ ปริญญาโทอีก 2 ปี ในขณะที่ไทยเราจะเรียนปริญญาตรีอย่างเดียวแต่ใช้เวลา 4 และเพิ่งมาปรับเป็น 5 ปีในช่วงหลัง ๆ มานี้ แต่อย่าคิดว่าเรียนพอ ๆ กันอีกล่ะ เพราะปริญญาตรี 3 ปีของเขาเท่ากับ 180 หน่วยกิต (บวกกับปริญญาโทอีก 120 หน่วยกิต) หรือคิดง่าย ๆ คือเรียนเทอมละ 30 หน่วยกิต ทั้งนี้ปริญญาตรีสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์บ้านเราเรียนประมาณ 160 หน่วยกิตเท่านั้น นักศึกษาครูฟินแลนด์จะต้องเข้าไปเรียนรู้ในโรงเรียนจริง ๆ ตั้งแต่ ปีที่ 1 เพื่อสังเกต เก็บข้อมูล และ นำมาเปรียบเทียบกับทฤษฎีการเรียนรู้ระหว่างทางตลอด โดยใครอยากสอนมัธยมวิชาไหนก็จะต้องเลือกเรียนวิชาเฉพาะให้เข้มข้นกว่าคนอื่น ๆ คราวนี้ไม่ว่าใครจะจบจากมหาวิทยาลัยไหนมาไม่สน เพราะเขาไม่ให้ครูใหม่ป้ายแดงเดินตรงเข้าไปสอนนักเรียนเด็ดขาด แต่ละคนจะมีช่วงเวลา 1 – 2 ปีแรกที่จะต้องสอนเป็นทีม และ จะต้องมีพี่เลี้ยงประกบเพื่อช่วยให้มั่นใจว่าสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามคุณภาพที่ต้องการ ทางสหรัฐอเมริกาเรียกวิธีการทำงานแบบนี้ว่า Clinical Experience วิธีนี้ทำให้ครูทุกคนในฟินแลนด์คุ้นเคยกับการทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบริหารจัดการความรู้ในโรงเรียนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่รู้จบ ต่างกับบ้านเราที่มีแค่การฝึกสอนในปีสุดท้าย จบแล้วได้ใบประกอบวิชาชีพครู และ สามารถเดินเข้าไปสอนในห้องเรียนได้เลย นี่คือประเด็นที่ต่างกันเห็น ๆ
ประเด็นที่ 4 ปรับหลักสูตรบ่อยมั้ย? คำตอบคือ “บ่อย” และบ่อยกว่าประเทศไทยมากซะด้วย เพราะฟินแลนด์จะทำการปรับหลักสูตรทุก ๆ 3 ปีเพื่อให้เนื้อหาทันสมัยอยู่เสมอ โดยเอาคะแนนการสอบประเมินผลระดับชาติมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตร โดยหน้าที่ในการปรับหลักสูตรจะเป็นของ “อาจารย์มหาวิทยาลัย” อย่างไรก็ดีแนวทางเรื่องหลักสูตรนี้เหมือนกับการศึกษาบ้านเราคือเป็นหลักสูตร “แกนกลาง” (เอ้า มีตรงกันบ้างล่ะน้า) ที่ให้กรอบขั้นพื้นฐานไปต่อยอด โดยครูจะต้องเขียนหลักสูตรโรงเรียนกันเอาเอง ซึ่งแนวทางนี้จะอยู่ในประเด็นต่อไป นอกจากนั้นกระทรวงศึกษาฟินแลนด์จะมี “ข้อสอบตัวอย่าง” ส่งไปให้ครูทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางในการออกข้อสอบเพื่อวัดความรู้ของนักเรียนตัวเองด้วย โดยเกรดของครูถือเป็นที่สิ้นสุด แต่ครูต้องให้เหตุผลได้ด้วยนะว่าอะไรคือที่มาของคะแนนเหล่านั้น
ประเด็นที่ 5 ทำไมคนอยากเป็นครู? เงินเดือนครูในฟินแลนด์อยู่ในกลุ่มขอบคนที่มีเงินเดือนดีมาก แต่ก็ยังไม่ที่สุดเพราะน้อยกว่าหมอและทนายความ เหตุผลสำคัญที่คนหนุ่มสาวในฟินแลนด์อยากเป็นครูเพราะเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับนับถือ เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคืออาชีพครูเป็นอาชีพที่เปิดโอกาสให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพราะครูจะต้อง “ออกแบบ” กิจกรรมการเรียนการสอนเองตามกรอบหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตรงนี้เป็นผลลัพธ์ที่การศึกษาฟินแลนด์สร้างคนให้ชอบคิดชอบทำอะไรใหม่ ๆ ตั้งแต่อ้อนแต่ออกนั่นเอง ประเด็นนี้ขอยกให้คุณผู้อ่านไปวิจารณ์ต่อกันเอาเอง เพราะผมไม่มีข้อมูลว่าครูราวสี่แสนคนในระบบการศึกษาบ้านเราอยากเป็นครูจริง ๆ ร้อยละเท่าไหร่
ประเด็นที่ 6 ฟินแลนด์มีการสอบ O-Net ในบ้านเราหรือไม่? คำตอบคือ “มี” แต่เป็นการสุ่มโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างมาสอบ โรงเรียนกลุ่มตัวอย่างจะถือเป็นตัวแทนเพื่ออ้างอิงคุณภาพการศึกษาของทั้งประเทศ ต่างกับบ้านเราที่จัดสอบ O-Net แบบปูพรมเป็นหน้ากระดาน วิธีการของฟินแลนด์มีข้อดีเห็นได้ชัดเจน คือ 1) ประหยัดงบประมาณได้มาก 2) ทุกโรงเรียนต้อง “เต็มที่ตลอดเวลา” เพราะมีโอกาสโดนสุ่มเป็นกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะการประเมินดังกล่าวจะมีผลกับทุกโรงเรียนในประเทศ ส่วนที่แตกต่างจากบ้านเราคือการสอบดังกล่าวไม่นับเป็นเกณฑ์ในการประเมินสมรรถนะของโรงเรียน ซึ่งนี้แหละคือจุดของบ้านเราที่เอา KPI ไปผูกไว้กับ O-Net ทำให้โรงเรียนกลัวการสอบ O-Net มากกว่านักเรียน
ประเด็นที่ 7 ฟินแลนด์จัดอันดับโรงเรียนเหมือนประเทศอื่น ๆ หรือไม่? คำตอบคือ “ไม่” เพราะฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับ “ความเสมอภาค” อย่างมาก การจัดอันดับโรงเรียนถือเป็นการทำลายความเท่าเทียมกันดังกล่าวทันที โรงเรียนทุกแห่งของฟินแลนด์จะต้องมีคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาที่ทัดเทียมกันหมดไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของประเทศ ทั้งนี้รวมถึงการสอบของนักเรียนด้วยโดยคะแนนสอบของนักเรียนแต่ละคนจะถือเป็น “ความลับ” ที่จะมีแค่นักเรียนและผู้ปกครองเท่านั้นที่รู้ ไม่เอามาเทียบกันเพราะถือเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ ต่างกับบ้านเราที่เน้นการจัดอันดับตั้งแต่ในห้องจนถึงจัดอันดับโรงเรียน นี่คืออีกภาพที่ตรงกันข้ามกันมาก ๆ อีกมุมหนึ่ง
ประเด็นสุดท้าย ทางฟินแลนด์มีหน่วยงานเหมือน สมศ. หรือไม่? คำตอบคือ “ไม่มี” การสังเกตชั้นเรียนของฟินแลนด์เป็นไปเพื่อ “ให้ความช่วยเหลือ” มากกว่าเข้าไปเพื่อ “ประเมิน” โดยใช้ระบบการให้ความช่วยเหลือแบบพี่เลี้ยง หรือ Mentoring System เทียบกับบ้านเราแล้วก็คือการมีระบบ “ศึกษานิเทศก์” มาให้ความช่วยเหลือที่ต้องมาช่วยจริง ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของหน้าที่การงานของครูหรือโรงเรียนแต่อย่างใด ก็จะวนกลับไปตอบโจทย์ในประเด็นแรกว่าการศึกษาจัดเพื่อนักเรียนอย่างแท้จริง
โดยสรุปแล้วแนวคิดในการใช้ชีวิต การเมือง และ การศึกษาของฟินแลนด์สอดคล้องตรงกันทั้งหมด โดยฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการคิดงานทุกอย่างแบบลงละเอียด สามารถให้แนวทางทุกอย่างที่ประชาชนจะเอาไปทำเองได้อย่างถูกต้อง เพื่อลดการ “กำกับ และ ควบคุม” พลเมืองของเขาในทุก ๆ เรื่อง นับตั้งแต่การจราจรจนถึงความเป็นอยู่ในด้านอื่น ๆ ผลตรงนี้ทำให้โรงเรียนและครูได้รับการมอบอำนาจ (Empowering) ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ (คล้าย ๆ เวลาไปทานอะไรในโรงอาหารของ IKEA เลย)
เป็นยังไงกันบ้างกับความแตกต่างระหว่างฟินแลนด์กับไทย โดยรวม ๆ แล้วเหมือนจะต่างกันหลายส่วนอยู่ ถ้าจะให้ดีต้องมาว่ากันที่วิธีการว่าจากสภาพการศึกษาไทยในปัจจุบันเราทำอะไรได้บ้าง ซึ่งในสัปดาห์หน้าผมจะมาลองรวบรวมแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาไทยในแบบที่สามารถไล่ทำได้ตั้งแต่ง่ายไปยาก เพื่อให้เกิดแนวคิด ทางเลือก และ ความหวังที่จะสร้างความน่าเชื่อถือสู่การศึกษาไทยให้ได้อีกครั้งหนึ่ง
สำหรับ Ministry of Learning ฉบับนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ฉบับนี้ยาวหน่อยเพราะเนื้อหาเยอะมาก และพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดี
ขอบคุณที่มาจาก OK NATION BLOG โดยสมาชิกชื่อคุณ โชดก โพสต์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2557