พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการคัดเลือกและรับครู ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำเสนอถึงข้อดี ข้อเสียของการจัดสอบคัดเลือกครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระบุให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ แต่ในทางปฏิบัติ สพท.จะไปจ้าง มหาวิทยาลัยในพื้นที่ออกข้อสอบและดำเนินการจัดสอบให้ ซึ่งมักมีปัญหาเรื่องมาตรฐานของข้อสอบมีความยากง่ายไม่เท่ากัน อีกทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณถึงปีละประมาณ 80 ล้านบาท
ดังนั้น สพฐ.จึงได้เสนอให้ปรับกระบวนการจัดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย ให้เป็นสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยประหยัดงบฯได้มาก อีกทั้งผู้สอบยังสามารถเก็บคะแนนไว้ได้ถึง 2 ปี เมื่อ สพท.ใดต้องการเปิดรับครูก็ให้นำคะแนนนั้นไปยื่นสมัครใน สพท.นั้น ซึ่งสพท.จะเป็นผู้สัมภาษณ์เอง เป็นลักษณะเดียวกับสอบเข้ารับราชการของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่สอบภาค ก และ ภาค ข โดยส่วนกลาง แล้วหน่วยงานราชการที่ต้องการก็เรียกไปสัมภาษณ์ ภาค ค ซึ่งในที่นี้ก็คือ สพท. ทั้งนี้ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปดูข้อกฎหมาย หากทุกฝ่ายเห็นชอบก็ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯต่อไป.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559