“ฉัตรชัย”เตรียมเรียกข้าราชการเกษตรฯทำความเข้าใจ เกณฑ์ประเมินทำงาน ขู่ประเมินรอบแรกเม.ย.ไม่ผ่าน โยกย้ายแน่
7ก.พ.2559 ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ออกคำสั่งที่ 5/2559 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมุ่งไปที่การประเมินผู้บริหารส่วนราชการระดับสูงที่ต้องขับเคลื่อนตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
คำสั่งดังกล่าว จะมุ่งไปที่ประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานประจําหรืองานตามหน้าที่ปกติ และปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ นโยบาย หรือภารกิจที่มอบหมายเป็นพิเศษแก่บางหน่วยงานหรือข้าราชการบางตําแหน่งหน้าที่ เช่น ภารกิจในการปฏิรูปการสร้างความปรองดอง การแก้ปัญหาสําคัญเฉพาะเรื่อง
กระทรวงเศรษฐกิจหลายกระทรวงตกเป็นเป้าตามคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากหลายเรื่องที่เป็นนโยบายสำคัญและปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข แต่พบว่ายังเป็นไปอย่างล่าช้า
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าเตรียมเรียกข้าราชการกระทรวงฯเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและสับสนเกี่ยวกับรายละเอียดของการประเมินผลการทำงานของข้าราชการองข้าราชการ
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า เข้าใจว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการทั่วไป จึงได้มีการประเมินผลการทำงานก่อนที่จะประเมินเสนอรัฐบาลตามฤดูกาลในเดือนต.ค.2559
ประเมินรอบแรกเม.ย.ไม่ผ่านโยกทันที
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่ามาตรการที่ออกมาตามประกาศ คสช.ในช่วงนี้ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ แต่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจว่า การดำเนินการของ คสช.ไม่ได้ออกมาเพื่อทำลายขวัญและกำลังใจของคนทำงาน แต่เป็นการเร่งให้คนที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิรูปประเทศในส่วนของตนเอง เร่งบูรณาการร่วมกันในการทำงาน
“หากประเมินในรอบแรกเม.ย.นี้เสร็จพบว่าต้องมีการโยกย้าย หรือจำเป็นต้องโยกย้ายข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ก็จะไม่รอประเมินในรอบ 2 คงสั่งให้มีการโยกย้ายนอกฤดูกาลเลยไม่ต้องรอเดือนก.ย.เพื่อประเมินใหม่และย้ายจริงต.ค. เพื่อให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น”
เผยการทำงานมีปัญหาหลายด้าน
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่าการทำงานของข้าราชการหลังจากพล.อ. ฉัตรชัย เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ แทนนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อีกทั้งแต่งตั้งให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ ซึ่งเดิมเป็นอธิบดีกรมป่าไม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นปลัดกระทรวงเกษตรฯ แทนนายชวลิต ชูขจร ผู้ตรวจราชการพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ขวัญและกำลังใจการทำงานของข้าราชการลดลง
นอกจากนี้ พล.อ. ฉัตรชัย เข้ามาบริหารกระทรวงใน2 เดือนแรกได้โยกย้ายข้าราชการระดับ10 หลายตำแหน่ง เช่น นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน ถูกโยกย้ายจากตำแหน่งรองอธิบดีกรมประมง นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรในปัจจุบันโยกย้ายมาจากรองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นต้น
จากปัญหาของกระทรวงเกษตรฯที่ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไข เช่นปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้ พล.อ. ฉัตรชัย ต้องเร่งดำเนินการ โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อมูลจัดทำแผนปฏิบัติการ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ถูกติติงทุกครั้งเมื่อมีการประชุมทั้งในระดับผู้บริหาร หรือมีการเรียกเข้าพบ ทำให้ไม่สนใจจะปฏิบัติตามคำสั่ง การทำงานโดยปัจจุบันเป็นเพียงทำตามหน้าที่ ทำตามคำสั่งแต่ไม่มีการเร่งรัด
นอกจากนี้เมื่อการปฏิบัติงานในพื้นที่มีปัญหา การสอบถามเพื่อขอรับคำสั่งจากรัฐมนตรีโดยตรง เป็นไปได้ยาก เนื่องจากการขอเข้าพบ พล.อ.ฉัตรชัย แต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก หลายครั้งที่ข้าราชการระดับสูงต้องนั่งตามระเบียงเพื่อรอชี้แจงตั้งแต่9.00-16.30 น. ในขณะที่นายธีรภัทร ซึ่งเป็นปลัดใหม่ที่ข้ามห้วยมาจากต่างกระทรวงฯทำให้ขับเคลื่อนการทำงานของข้าราชในสังกัดเป็นไปได้อย่างลำบาก
ปัญหาที่พบในการทำงาน กรณีการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่กรมชลประทานมีบทเรียนกรณีออกประกาศงดทำนาปรังในปี 2557/58 ก่อนรายงานให้รัฐมนตรีรับทราบ ทำให้ในปี2558/59 กรมชลประทานต้องเสนอเรื่องทั้งหมดผ่านพลงอ. ฉัตรชัย ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณา ถึง 3 ครั้งก่อนรัฐบาลจะประกาศแผนรับมือภัยแล้งได้ในปลายเดือน ต.ค. 2558
ในขณะที่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำนั้น ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือยางพาราเท่านั้น โดยได้ดึงนางจิตนา ชัยยวรรณการ อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน และประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า(อคส.) มาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องยางโดยเฉพาะ
พาณิชย์จับตาขรก.เกียร์ว่างรอรัฐบาลใหม่
กระทรวงพาณิชย์ถือเป็นอีกหน่วยงานที่ถูกจับตามาก เนื่อลจากมีทั้งงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเฉพาะหน้าและนโยบายขับเคลื่อนปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าขณะนี้ระดับรัฐมนตรีฯมองว่าการทำงานของข้าราชการระยะหลังได้กลายเป็นปัญหากับรัฐบาลมาก ซึ่งต่างจากเมื่อครั้งที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาใหม่ๆ ข้าราชการจะให้ความร่วมมือ ในการทำงานเป็นอย่างดีใน ทุกภาคส่วน ทุกระดับ
“ช่วงแรกๆข้าราชการทำงานเป็นทีม กระตือรือเร้นที่จะทำงานร่วมกัน แต่พอช่วงหลังๆกลายเป็นเกียร์ว่าง สั่งอะไรลงไปไม่ค่อยมีการตอบรับเท่าที่ควร สิ่งที่เกิดขึ้นในกระทรวงอาจเป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วง ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นปลายรัฐบาลแล้วก็ได้คิดว่าอย่างไรเดี๋ยวการเมืองก็เข้ามาแทน"
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่ร่วมมือของข้าราชการเวลาในกระทรวงพาณิชย์ ทำให้การทำงานยากลำบากขึ้น บางครั้งสั่งอะไรไปก็ไม่ค่อยจะได้ผลลัพภ์กลับมา ยิ่งเป็นข้าราชการระดับสูงเวลานี้ดูเหมือนจะเฉื่อยชาเสียมากกว่า คงคิดว่าอีกไม่นานก็ต้องเปลี่ยนรัฐบาล หากทำไปแล้วไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่มาจะทำอย่างไร ยิ่งใกล้หมดวาระของรัฐบาลการทำงานยิ่งยากมากับข้าราชการ
ชี้ข้าราชการเคยชินกับนักการเมือง
“ปัญหาที่เกิดขึ้นยอมรับว่าทำให้การทำงานยากขึ้น ตอนนี้รัฐบาลนอกจากมีปัจจัยการเมืองที่เข้ามาเป็นอุสรรคแล้วยังมีปัญหาการทำงานของข้าราชการที่ไม่ค่อยจะฉับไวเท่าที่ควร ข้าราชการส่วนใหญ่เคยชินกับการเมืองมากกว่า”
ดังนั้นคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2559 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ น่าจะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาในการทำงานของส่วนราชการได้ โดยเฉพาะข้าราชการระดับ ซึ่งจะต้องเป็นตัวอย่างให้กับข้าราชการผู้น้อยที่สำคัญเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการทั่วไป พร้อมทั้งนำการประเมินผลการทำงานได้ น่าจะเป็นส่วนช่วยทำให้การทำงานในกระทรวงดีขึ้นบ้าง
คมนาคมขาดกำลังคนขับเคลื่อน
สำหรับกระทรวงคมนาคม ถือว่าหน่วยงานสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลสั่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ
กระทรวงคมนาคม มีหน่วยงานระดับกรมที่สำคัญ อาทิ กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน เป็นต้น และยังรวมถึงรัฐวิสาหกิจอีก 14 แห่ง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ขนส่ง จำกัด
ปัญหาสำคัญของกระทรวงคมนาคมมีลักษณะคล้ายกัน คือ การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดกรอบเวลา แต่ในทางปฏิบัติยังถือว่าล่าช้า อย่าง เช่น กรณีแผนปลดล็อคธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งคสช.ต้องใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เข้าแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถเร่งรัดได้เร็วนัก
ความล่าช้าที่เห็นได้ชัดก่อนหน้านี้ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จนกระทังมีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลและได้เร่งให้กำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน เนื่องจากโครงการของกระทรวงคมนาคมเป็นโครงการให้เงินลงทุนสูงและรัฐบาลต้องการให้การลงทุนจขากภาครัฐ สร้างความเชื่อมั่น
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่าปัญหาใหญ่ของกระทรวงคมนาคม คือ หลายส่วนงานไม่มีกำลังคนเพียงพอ เมื่อเทียบกับนโยบายเร่งด่วนในหลายเรื่อง ทำให้งานมีความล่าช้า อีกทั้งเป็นเรื่องของโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลา และเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับบริหารหลังคสช.เข้าบริหารประเทศ
คนคลังเชื่อผ่านประเมิน
ด้านกระทรวงการคลัง ถือเป็นกระทรวงสำคัญที่นายสมคิด ให้ความสำคัญมากที่สุดกระทรวงหนึ่ง เนื่องจากสามารถออกมาตรการขับเคลื่อนที่เห็นผลทันทีด้วยมาตรการภาษี อีกทั้งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่น
แหล่งข่าวกล่าวว่าการดำเนินงานของข้าราการกระทรวงการคลังที่ผ่านมา มั่นใจว่าไม่ได้ใส่เกียร์ว่างที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนมาตรการที่ประกาศใช้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ผ่านมา โดยสะท้อนถึงความพร้อมในการทำงานของกระทรวงการคลัง
เผยมีเพียงไม่กี่เรื่องล่าช้า
แหล่งข่าวกล่าวว่าขณะนี้มาตรการตามนโยบายรัฐบาล ถือว่ามีเพียงส่วนน้อยที่ยังคงมีความล่าช้า ยกตัวอย่าง การเบิกจ่ายเงินลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาททั่วประเทศ ปัจจุบันมียอดการเบิกจ่ายได้กว่า 3% จากวงเงินรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่หากลงไปดูเชิงลึกจะพบว่า มีจำนวนโครงการที่เดินหน้ามากกว่านั้น แต่เป็นเพราะระบบการคีย์ข้อมูลระดับท้องถิ่นเพื่อแจ้งตรงมายังกรมบัญชีกลางนั้นมีข้อจำกัดจากระดับท้องถิ่น ซึ่งกรมบัญชีกลางได้เข้าไปร่วมแก้ไขแล้ว คาดผลรายงานการเบิกจ่ายจะเร่งตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ เร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือ PPP Fast Track การสนับสนุน10อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์วงเงิน 1 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่าคลังยังมีมาตรการภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บที่อยู่ระหว่างการผลักดัน คือ การออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการปรับปรุงโครงสร้างภาษี และ รายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาดว่า จะมีการสรุปนำเสนอระดับนโยบายเร็วๆนี้
ที่มา คมชัดลึก วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559