สพฐ.เสนอโมเดลสอบครูผู้ช่วยใหม่ให้ สทศ.ออกข้อสอบกลาง หวังลดงบประมาณในการจัดสอบ "ดาว์พงษ์" เผยหากดำเนินการต้องแก้กฎหมาย เตรียมหารือ ก.ค.ศ. ด้านคุรุสภาวาง 3 มาตรการให้ใบอนุญาตครูสะดวกขึ้น
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ในการประชุมพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการคัดเลือกและรับครู ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอแนวคิดการสอบคัดเลือกครูใหม่ โดยให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ออกข้อสอบ ซึ่งทั้งประเทศจะเป็นข้อสอบแบบเดียวกันหมด ในภาค ก. (ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป) และภาค ข. (ภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง) และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำหน้าที่สอบสัมภาษณ์ ภาค ค. (ภาคความเหมาะสมเฉพาะตำแหน่ง) ซึ่งรูปแบบการจัดสอบนี้เป็นลักษณะเดียวกับสอบเข้ารับราชการของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ดำเนินการสอบภาค ก. และภาค ข. โดยส่วนกลาง แล้วหน่วยงานราชการคือ สพท.เรียกไปสัมภาษณ์ ภาค ค. เพราะฉะนั้น สพท.จะเรียกรับสมัครครูเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดรับพร้อมกัน แต่การสอบภาค ก. และภาค ข.นั้น จะต้องมากำหนดให้ชัดเจนว่าจะเปิดรับสมัครและสอบเมื่อไหร่ เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาหลักการเท่านั้น เพราะต้องมีการแก้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระบุให้ สพท.เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ จึงต้องมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ก่อน
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า การสอบคัดเลือกครูในระบบเดิมที่ใช้กันมา ถือว่าใช้งบประมาณจำนวนมากถึง 80 ล้านต่อปี บางครั้งมีอัตราว่างแค่ 2 ตำแหน่ง แต่ใช้งบในการสอบเยอะมาก อีกทั้งการจ้างมหาวิทยาลัยออกข้อสอบ และการจัดสถานที่สอบ แน่นอนว่าข้อสอบในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาย่อมไม่เหมือนกัน และข้อสอบอาจมีมาตรฐานไม่เท่ากัน อีกทั้งการออกข้อสอบในบางมหาวิทยาลัยที่จ้างไปนั้นข้อสอบก็ยากเกินไป ครูจึงไม่ผ่านเกณฑ์ เข้าใจว่าทางมหาวิทยาลัยอาจหวังดี แต่จะยากเกินไปหรือไม่ แต่ถ้าให้ สทศ.ออกข้อสอบจะไม่มีรั่วแน่นอน และคะแนนสอบยังสามารถใช้ได้เป็นเวลา 2 ปี อีกทั้งมหาวิทยาลัยฝ่ายผลิตสามารถประเมินเด็กของตนได้ว่าลูกศิษย์ที่จบออกมาแล้วจะมีคุณภาพแค่ไหน มหาวิทยาลัยสามารถประเมินตนเองได้ว่ามหาวิทยาลัยมีคุณภาพเพียงไร ซึ่งการสอบสามารถเป็นตัวสะท้อนกลับไปที่มหาวิทยาลัยได้
นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัด ศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ขณะนี้คุรุสภามีการบ้านที่ต้องทำ 3 เรื่อง เพื่อเสนอ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. คือ
1.เรื่องการรับรองปริญญา โดยคุรุสภาจะรองรับหลักสูตรจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ผ่านมามีความล่าช้าในขั้นตอนการดำเนินการเปิดหลักสูตรคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ที่ต้องผ่านการรับรองจากสภามหาวิทยาลัย แล้วจึงส่งเรื่องมาให้ สกอ. และส่งต่อให้คุรุสภาตั้งคณะทำงานออกไปดูหลักสูตรว่ามีความพร้อมและตรงกับมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ ส่งผลให้มีการเปิดสอนก่อนที่หลักสูตรจะได้รับการรับรอง รวมถึงรับผู้เรียนเกินกว่าที่จออนุมัติ ทำให้คุรุสภาต้องมีปัญหากับมหาวิทยาลัย ดังนั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศธ. จึงเสนอให้มีการปรับปรุงเรื่องการรับรองปริญญาหลักสูตรทางการศึกษา โดยสภามหาวิทยาลัยต้องตกลงกับสภาวิชาชีพคือคุรุสภาก่อนที่จะอนุมัติหลักสูตร เพื่อให้คุรุสภาให้คำแนะนำและยืนยันการอนุมัติให้เปิดสอนได้ คุรุสภาจะไม่ไปไล่จับเหมือนที่ผ่านมา
2.การลดขั้นตอนให้ใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนที่ต้องการได้ครูเก่งมาสอน เช่น สถานศึกษาอาชีวศึกษาต้องการครูช่างสิบหมู่ซึ่งกำลังจะสูญหายไม่มีใครสืบต่อ หรือตำรวจตระเวนชายแดนที่เป็นครูสอนเด็กในโรงเรียน ตชด. แต่ไม่มีใบอนุญาตครู เป็นต้น คุรุสภาก็จะออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเฉพาะให้
3.การต่ออายุใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่ง รมว.ศธ.มอบให้คุรุสภาไปศึกษาว่าควรต้องต่ออายุหรือไม่ เรื่องนี้ได้ข้อสรุปว่าควรต้องมีการต่ออายุใบอนุญาตฯ เพื่อสะท้อนว่าครูคนนั้นมีการพัฒนาตนเองหรือไม่ เมื่อได้รับใบอนุญาตฯ ซึ่งมีอายุ 5 ปี ครูจะต้องทำแฟ้มสะสมผลงาน เพื่อมาแสดงประกอบการต่ออายุอีก 5 ปี โดยครูก็ยังต้องเก็บสะสมผลงานต่อไป เมื่อถึงปีที่ 11 ก็ให้ต่ออายุอีกครั้ง แต่เป็นการต่อแบบตลอดชีพ และถ้าครูผิดจรรยาบรรณร้ายแรงก็ถอนใบอนุญาตฯ ได้ kroobannok.com
ส่วนกรณีผู้บริหารการศึกษาต้องถือใบอนุญาตฯ 3 ใบ คือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา ได้อธิบายให้ รมว.ศธ.ฟังแล้วว่าให้ลดเหลือใบเดียว หมายถึงขณะนั้นมีตำแหน่งอะไรให้ถือใบอนุญาตใบนั้นเป็นหลัก เพื่อลดภาระไม่ต้องเสียเงินค่าต่อใบอนุญาตหลายใบ.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559