รมช.ศธ.แนะ สทศ.เปิดโอกาสคนนอกส่งข้อสอบโอเน็ตมาให้พิจารณา หวังช่วยทำคลังข้อสอบสุดยอดของโลก และให้ สทศ.ต่างชาติช่วยประเมินคุณภาพข้อสอบ นอกจากนี้ยังควรเปิดเผยรายละเอียดแนวข้อสอบเพื่อไม่ให้เด็กคาดเดา แต่ทดสอบการรู้จริงของเด็ก
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวถึงการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ซึ่งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. ซึ่งล่าสุด สทศ.ได้ดำเนินการจัดสอบโอเน็ตนักเรียนระดับชั้น ม.6 เมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า การสอบโอเน็ตสำหรับเด็ก ม.6 นั้นถือเป็นการสอบครั้งสำคัญที่มีเดิมพันชีวิตสูง เพราะต้องนำคะแนนไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจบการศึกษาและเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย จึงเป็นหน้าที่ที่ สทศ.ต้องทำให้ข้อสอบมีความยุติธรรม น่าเชื่อถือ และให้ทุกคนเกิดความมั่นใจในข้อสอบ ซึ่งตนเห็นว่า สทศ.ควรประกาศรายละเอียดของข้อสอบโอเน็ต รวมทั้งข้อสอบอื่นๆ ให้นักเรียนทุกคนทราบล่วงหน้าว่าจะสอบอะไรบ้าง เพราะทุกวันนี้ สทศ.บอกแต่สโคปแค่ขอบเขตของข้อสอบเท่านั้น ไม่ได้บอกสเปกว่าจะออกเรื่องอะไร แบบไหน อย่างไร ซึ่งคิดว่าการสอบที่ดีไม่ใช่ให้เด็กมาคาดเดาเอาเองว่าจะออกอะไร และการสอบต้องไม่ใช่การจับผิดเด็กว่าทำได้หรือไม่ได้ ต้องช่วยพัฒนาเด็กด้วย
รมช.ศธ.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอยากให้มั่นใจว่า ศธ.ไม่ได้ละเลยเรื่องการทำให้ข้อสอบมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งเห็นว่าขณะนี้ สทศ.มีคลังข้อสอบอยู่แล้ว แต่ผู้ที่ออกข้อสอบยังมีเพียงครูอาจารย์เท่านั้น ดังนั้นจึงมีแนวคิดให้ สทศ.เปิดกว้างให้บุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละวิชาสามารถส่งข้อสอบมาให้ สทศ.ได้ แต่ สทศ.จะต้องมีคณะกรรมการเพื่อมาวิเคราะห์ข้อสอบดังกล่าว หากได้มาตรฐานก็ให้ซื้อมาเก็บไว้ในคลังข้อสอบเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งหากทำได้เช่นนี้จะเป็นคลังข้อสอบที่สุดยอดของโลก โดยแนวทางดังกล่าวมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ก็ได้ทำมานานแล้วเช่นกัน ส่วนการนำข้อสอบอัตนัยมาใช้ในการสอบโอเน็ตนั้น จะเริ่มใช้กับวิชาภาษาไทยของเด็กในระดับชั้น ป.6 ในปีการศึกษา 2559 ก่อน ซึ่งจะสอบในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แต่จะยังไม่นำมาใช้กับข้อสอบโอเน็ต ม.6 เพราะการสอบของเด็ก ม.6 มีการเดิมพันสูง หากให้สอบในเร็วๆ นี้จะไม่ยุติธรรม อีกทั้งไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าให้เด็กทราบด้วย ดังนั้นการสอบอัตนัยสำหรับเด็ก ม.6 จึงเป็นเรื่องของอนาคต
"นอกจากนี้ ผมยังอยากก็อยากให้มีการเชิญหน่วยงานภายนอกจากต่างประเทศที่ได้มาตรฐาน เช่น ศูนย์ทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นต้น มาประเมินว่าข้อสอบและการจัดสอบยังมีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงและพัฒนา" รมช.ศธ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559