Robert Thatcher ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีในสมองที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ถึงกับประกาศออกมาว่ายิ่งเราปล่อยของวางเกะกะมากเท่าไหร่ เราก็จะฉลาดมากขึ้นเท่านั้น! (เฮ้ย นี่มันทำลายทุกความเชื่อเดิม ๆ เลยนะ ครูสอนตลอดเลยว่ายิ่งมีระเบียบก็จะยิ่งจัดการอะไรได้เร็ว)
เขาให้เราลองคิดง่าย ๆ ว่ามนุษย์ที่นึกอยากจะวางอะไรก็วาง เก็บข้าวของไม่เป็นที่ วางอะไรไว้ตรงไหนก็ไม่เคยจำ จะเป็นมนุษย์ที่สมองมีการคิดอยู่ตลอดเวลา (ก็แน่ล่ะ ไม่ได้จำไว้นี่นาว่าอะไรวางไว้ตรงไหนก็ต้องคอยคิดหาสิ ฮือออ)
ภาพจาก fandation.co
เมื่อเราทำไปเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นนิสัยของเราโดยอัตโนมัติว่าเราต้องคิดหลาย ๆ เรื่องไปพร้อม ๆ กัน เช่น ตอนเด็กเราอาจจะตื่นมาหาแว่นตาไม่เจอ แรก ๆ ก็เสียเวลาหา พอเรายิ่งโตขึ้น (ก็ยังวางแว่นไม่เป็นที่เหมือนเดิม) เราก็จะเรียนรู้ว่าตื่นมาเราต้องคิดตั้งแต่วินาทีแรกเลยว่าเราเอาแว่นตาวางไว้ไหน (เพื่อไม่ให้เสียเวลาเดินตามหา) เอ ไหนจะกระเป๋าอีกล่ะ มือถือด้วย แล้ววันนี้อยากใส่ชุดสีน้ำเงินตัวเก่งมันส่งซักไปหรือยัง หรือมันวางไว้ที่ไหนแน่ ทั้งหมดนี้จะฝึกให้เราคิดอะไรที่ซับซ้อน (ซึ่งมันดูจะซับซ้อนเกินไปนะ) ในเวลาอันจำกัด
เพราะฉะนั้นบางคนที่ห้องดูรกมาก จนเรางงว่าเขาหาอะไรเจอได้ยังไง ก็ไม่ต้องไปเครียดแทนเขาหรอก บางทีเขาก็รู้อยู่ในหัวหมดแล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหน แค่คนอื่นไม่เข้าใจเท่านั้นเอง
ภาพจาก todaysparent.com
ยังไม่จบแค่นั้นเพราะ Jonah Lehrer คนเขียนหนังสือเรื่อง Imagine: How Creativity Works บอกว่านิสัยของมนุษย์ผู้ประสบความสำเร็จ คือมนุษย์ที่สามารถตั้งรับกับอุปสรรคได้อย่างรวดเร็ว มนุษย์ที่มีห้องรก โต๊ะรกจึงเป็นมนุษย์ที่ต้องเจออุปสรรคให้คอยแก้อยู่แทบทุกวินาที (นี่คือชมหรือด่ากันแน่เนี่ย) Lehrer บอกว่าไอ้ของเกะกะที่ใคร ๆ ก็บ่นนี่แหละมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ฝึกให้เราเจอกับความยุ่งยากตลอดเวลา (เดี๋ยวแว่นหาย เดี๋ยวหนังสือที่ชอบหาไม่เจอ ฯลฯ) จนเมื่อเราไปเจอความยุ่งยากอื่น ๆ ในชีวิต เราจะตั้งสติรับกับมันได้เร็วกว่าคนอื่น (เพราะเจอมาประจำแล้วนี่นา)
ตัวอย่างคนดังและประสบความสำเร็จที่โต๊ะรกก็มีตั้งแต่ J.K. Rowling ผู้ให้กำเนิดพ่อมดน้อยแฮร์รี่ Steve Jobs , Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก Mark Twain นักเขียนนักกวีชื่อดัง แม้กระทั่ง Albert Einstein นักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ก็โต๊ะรกไม่แพ้พวกเรา !
ภาพจาก epicdash.com
ถ้ายังเห็นภาพไม่ชัดพอ Steven Johnson เจ้าของหนังสือชื่อย๊าวยาว Where Good Ideas Come From: The Natural History Of Innovation บอกว่าบ้าน ห้อง หรือโต๊ะของเราก็เหมือนกับเมือง เมืองหนึ่งนั่นแหละ เมืองที่ใหญ่กว่าเมื่องอื่น ๆ 10 เท่า ก็จะยิ่งมีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้มากกว่าเมืองอื่น ๆ 17 เท่า ในขณะที่เมืองหลวงที่ใหญ่กว่าเมืองหลวงอื่น ๆ 50 เท่า จะมีโอกาสสร้างสิ่งใหม่ ๆ มากกว่าถึง 130 เท่า ความใหญ่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าพื้นที่กว้างกว่าที่อื่นนะ แต่หมายถึงจำนวนประชากร ความวุ่นวาย ยุ่งเหยิง เพราะยิ่งยุ่งเหยิงมากเท่าไหร่ก็ต้องยิ่งคิดนวัตกรรม หรือระบบใหม่ ๆ มาคอยรองรับอยู่ตลอดเวลา
Johnson ยังบอกอีกว่าความยุ่งยากซับซ้อนอย่างการอ่านหนังสือสองเล่มไปพร้อม ๆ กัน การมีงานอดิเรกหลาย ๆ อย่าง หรือการได้ทำงานหลาย ๆ แบบ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะฝึกให้เราคิดอะไรที่หลากหลาย ไม่ซ้ำแบบเดิม
ภาพจาก scienceburger.com
อย่างไรก็ตามสมองจะได้ฝึกคิด ความคิดสร้างสรรค์จะกระฉูดก็ต่อเมื่อเราฝึกคิดแก้ปัญหาเท่านั้น ไม่ใช่อยู่ ๆ ทุกคนจะโปรยของให้รกทั่วบ้านแล้วนั่งรอให้ความฉลาดเดินมาหาล่ะ (ยิ่งถ้าเป็นคนรักความเป็นระเบียบ รักความเรียบร้อยอยู่แล้วยิ่งไม่ต้องเลย เพราะมันจะฝืนธรรมชาติของเรา) แต่ถ้ารักจะปล่อยให้รกจนเป็นธรรมชาติของตัวเอง ก็ต้องรักที่จะรับผิดชอบต่อเวลา และรักที่จะจัดการความยุ่งเหยิงด้วยการฝึกคิด ฝึกจำ หรือสร้างสรรค์วิธีใหม่ ๆ ให้ชีวิตอันซับซ้อนของตัวเองให้ง่ายขึ้นอยู่เสมอ
ขอบคุณที่มาจาก minimore.com