ผู้เขียน สุพจน์ เอี้ยงกุญชร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ที่มา มติชนรายวัน เผยแพร่ 5 ก.พ. 59
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “คอร์รัปชั่น (corruption)” หลายท่านอาจจะนึกถึงแต่พวกนักการเมือง เพราะภาพลักษณ์ของนักการเมืองส่วนใหญ่มักจะเป็นเช่นนั้น แต่อันที่จริงสำหรับข้าราชการประจำนั้นก็มีไม่น้อย ทั้งกินตามน้ำไปกับนักการเมือง (บางทีเป็นผู้ชี้ช่องทางให้กับนักการเมืองเสียเอง) หรือกินทวนน้ำโดยหาช่องทางเอง ดังที่มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ที่ข้าราชการประจำถูกตัดสินให้ออก ปลดออก และไล่ออก หรือถูกจำคุกเพราะคดีคอร์รัปชั่น ซึ่งก็คือการหาประโยชน์ใดๆ โดยมิชอบจากทางราชการ ทั้งงบประมาณ ทรัพย์สิน และอำนาจหน้าที่ เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องอย่างไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง หรือกรณีที่ข้าราชการที่เกษียณแล้วมีเงินเป็นร้อยเป็นพันล้าน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้าราชการจะร่ำรวยได้ขนาดนั้นจากเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากระบบราชการ แต่เป็นเพราะกฎหมายเอื้อมไม่ถึง หรือกฎหมายเอื้อให้เขาหาประโยชน์อย่างไม่สมเหตุสมผลได้นั่นเอง
ประเทศไทยมีข้าราชการระดับอธิบดีขึ้นไปเป็นหลักร้อย (บางทีอาจถึงหลักพัน) และถ้านับตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีเข้าไปด้วยจะมีจำนวนเป็นหลักพันอย่างแน่นอน อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิการบดี และหัวหน้าศูนย์หรือสำนักงานอื่นๆ ที่มีฐานะเทียบเท่ากรม บุคคลระดับนี้จะมีสิทธิได้ใช้รถประจำตำแหน่งตามระเบียบของทางราชการ (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523) โดยให้รถประจำตำแหน่งมีอายุการใช้งานเพียง 6 ปี ซึ่งก็ดูเหมาะสมดีสำหรับข้าราชการระดับสูงเหล่านี้ ไม่ว่าจะใช้เพื่องานราชการจริงหรือไม่ก็ตาม (ขึ้นอยู่กับจริยธรรมของแต่ละท่านเป็นสำคัญ)
ต่อมาก็ในปี พ.ศ.2535 มีการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523 ให้ขยายสิทธิลงมายังระดับรองอธิบดีและตำแหน่งเทียบเท่าอื่นๆ (นี่คือตัวอย่างของความพยายามหาประโยชน์จากทางราชการของเหล่าข้าราชการระดับสูง) ที่มีจำนวนเป็นหมื่นๆ ตำแหน่ง ซึ่งนั่นหมายความว่า ประเทศนี้จะต้องใช้งบประมาณเพื่อจัดซื้อรถประจำตำแหน่งไว้ให้ข้าราชการระดับนี้ใช้อีกเป็นหมื่นๆ คัน และยังต้องเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 6 ปีด้วย เฉพาะในกระทรวงมหาดไทยที่นอกจากมีปลัดกระทรวง รองปลัด ผู้ตรวจ อธิบดี และรองอธิบดีแล้ว ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าฯ ที่เป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีและรองอธิบดี ซึ่งก็ล้วนแต่มีสิทธิได้รับด้วย (กระทรวงนี้กระทรวงเดียวน่าจะมีผู้มีสิทธิเป็นจำนวนร่วมพันราย)
ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการที่นอกจากจะมีปลัดกระทรวง รองปลัด ผู้ตรวจ อธิบดี และรองอธิบดีแล้ว ยังมีอธิการบดี รองอธิการบดี และตำแหน่งเทียบเท่าอื่นๆ รวมแล้วก็เป็นพันรายเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าทางกระทรวงย่อมไม่สามารถตั้งงบประมาณมาจัดซื้อจัดหารถประจำตำแหน่งได้ครบทุกตำแหน่งอย่างแน่นอน กระทรวงการคลังเองก็คงไม่สามารถหาเงินงบประมาณมาตอบสนองผู้มีสิทธิเหล่านี้ได้ทันเช่นกัน
ดังนั้น จึงมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหานี้ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร0504/ว 182 ลงวันที่ 10 กันยายน 2547 เรื่องการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งสำหรับข้าราชการผู้มีสิทธิได้รถยนต์ประจำตำแหน่ง และหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร0505/ว 141 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 เรื่องการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งสำหรับข้าราชการผู้มีสิทธิได้รถยนต์ประจำตำแหน่ง โดยมีมติให้ผู้มีสิทธิใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งแต่ละหน่วยงาน (ระดับกรม) ไม่สามารถจัดหารถให้ได้ ให้สามารถเบิกค่าตอบแทนเป็นเงินได้
โดยตำแหน่งระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าเบิกได้เดือนละ 41,000 บาท ระดับอธิบดีหรือเทียบเท่าเบิกได้เดือนละ 31,800 บาท และระดับรองอธิบดีหรือเทียบเท่าเบิกได้เดือนละ 25,400 บาท (คล้ายการผ่อนรถให้เป็นการทดแทนรถประจำตำแหน่ง)
ดังนั้น ใครที่ได้มาดำรงตำแหน่งระดับนี้ก็สามารถเอาเงินไปดาวน์รถหรูๆ ไว้ใช้เองได้เลย เมื่ออยู่ในตำแหน่งไปแค่ 3 ปี 4 ปีก็ได้รถหรูๆ เป็นสมบัติส่วนตัวไปฟรีๆ หนึ่งคัน และถ้ามีโอกาสครองตำแหน่งนานกว่านั้นก็จะได้เพิ่มไปอีกเป็นคันที่ 2, ที่ 3 มตินี้จึงคล้ายเป็นมติรองรับการรุมทึ้งงบประมาณแผ่นดินของข้าราชการประจำนั่นเอง
เรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ผู้มีสิทธิใช้รถประจำตำแหน่งนี้ ประโยชน์ที่เห็นๆ คือการชดเชยความสะดวกสบายให้ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีมูลค่ากว่าเดือนละ 4 หมื่นบาทสำหรับปลัดกระทรวง กว่า 3 หมื่นบาทสำหรับอธิบดี และกว่า 2 หมื่นบาทสำหรับระดับรองอธิบดีหรือตำแหน่งเทียบเท่า แม้จะจำกัดการเบิกได้ไม่เกินหน่วยงาน (กรม) ละ 5 ตำแหน่ง แต่มันก็ยังเป็นเงินจำนวนมหาศาลที่รั่วไหลออกไปโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่องานราชการและประเทศชาติ เมื่อวิเคราะห์ดูถึงความไม่เหมาะสมของเรื่องนี้แล้วจะพบว่ามีความไม่เหมาะสมที่ชัดเจน 4 ประการ ดังนี้
ประการแรก เป็นการใช้จ่ายงบประมาณกับรายจ่ายที่ไม่เป็นจริง เพราะข้าราชการระดับรองอธิบดีหรือเทียบเท่าเมื่อเข้ามารับตำแหน่งแล้ว คงไม่มีท่านใดมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการใช้รถในงานราชการมากมายถึงเดือนละ 2-3 หมื่นบาทเช่นนั้น และโอกาสที่จะใช้งานรถประจำตำแหน่งพร้อมๆ กันของคนในกรมเดียวกันก็คงมีไม่บ่อยนัก หากจำเป็นยังสามารถหาทางออกทางแก้ได้อีกหลายทาง เงินค่าตอบแทนที่ได้จึงเป็นรายจ่ายที่ไม่เป็นจริง เป็นเงินกินเปล่าโดยแท้จริง ทุกวันนี้จึงไม่ค่อยมีใครสมัครใจใช้รถประจำตำแหน่ง แต่มักจะขอรับเงินค่าตอบแทนเสียมากกว่า
เรื่องนี้ยังมีข้อสงสัยอีกว่า ในแต่ละกรมจะมีรองอธิบดีและตำแหน่งเทียบเท่าอื่นๆ ราว 10 ตำแหน่ง (บางกรมมีมากกว่านั้น) มีงานราชการใดที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้รถประจำตำแหน่งพร้อมๆ กันเป็นประจำ ถึงอาจมีบ้างก็เป็นครั้งคราว อธิบดีไม่สามารถหาทางออกในเรื่องนี้ได้เลยหรือ การผลัดกันใช้หรือใช้ร่วมกันเมื่อจำเป็นทำไม่ได้เลยหรือ แม้แต่การเช่ามาใช้เป็นครั้งคราวเมื่อจำเป็นก็ยังประหยัดกว่ามาก ยิ่งถ้านำรถส่วนตัวมาใช้บ้าง (ซึ่งมีกันทุกท่านอยู่แล้ว) ก็จะเป็นการเสียสละที่น่ายกย่องน่าสรรเสริญยิ่ง และที่สำคัญข้าราชการระดับนี้ควรจะประพฤติปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างแก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยด้วยอยู่แล้ว
ประการที่ 2 เป็นงบประมาณรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ เนื่องจากเป็นการตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดผลงานเพิ่มขึ้นมาแต่อย่างใด (จ่ายไม่จ่ายก็ได้ผลงานเท่าเดิม) เพราะโดยข้อเท็จจริงการทำงานของข้าราชการระดับนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่แต่สำนักงานและห้องประชุม ท่านจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการใช้รถมากนัก (รถส่วนตัวท่านก็มีใช้กันทุกคน) ดังนั้น การได้หรือไม่ได้เงินค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่งก็ไม่มีผลต่อภาระงานแต่อย่างใด ค่าตอบแทนที่ได้รับไปจึงไม่ได้ทำให้เกิดผลงานเพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย
ประการที่ 3 เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เป็นธรรม (ขาดธรรมาภิบาล) เพราะตำแหน่งรองอธิบดีเป็นตำแหน่งในระนาบเดียวกับผู้อำนวยการกอง แต่ผู้อำนวยการกองนั้นไม่มีสิทธิได้รถประจำตำแหน่งเหมือนรองอธิบดี ผู้อำนวยการกองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนดังกล่าวด้วย ทั้งๆ ที่ผู้อำนวยการกองซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานที่มีโอกาสใช้รถเพื่องานราชการมากกว่ารองอธิบดีด้วยซ้ำ แต่ทุกวันนี้ผู้อำนวยการกองก็ยังสามารถปฏิบัติงานราชการได้เป็นปกติ แม้ไม่มีสิทธิประโยชน์ใดๆ เรื่องรถประจำตำแหน่ง และหวังว่าประเด็นนี้คงไม่มีใครนำไปใช้เรียกร้องขยายจำนวนผู้มีสิทธิได้รถประจำตำแหน่งเพิ่มขึ้นอีก เพราะทุกวันนี้ประเทศชาติก็จะล่มจมเพราะข้าราชการประเภทนี้อยู่แล้ว
ประการที่ 4 เป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชั่น เพราะปรากฏคดีตามมาเมื่อผู้รับสิทธิค่าตอบแทนนี้แล้วจะไม่มีสิทธิใช้รถราชการอีก แต่ผู้รับสิทธิก็ยังเอารถราชการไปใช้โดยอาศัยข้อยกเว้นต่างๆ อาทิ ใช้รถราชการโดยอ้างว่าเป็นงานด่วนและรถส่วนตัวเสีย หรือให้เลขาฯขอใช้รถราชการและตนขออาศัยไปกับรถนั้นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ บางหน่วยงานยังไปออกระเบียบขยายสิทธิในการเบิกค่าตอบแทนในกรณีต่างๆ
เช่น การให้สิทธิกับผู้รักษาการแทน (ระเบียบหลักไม่ให้สิทธินี้) หรือเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิเกินจาก 5 ตำแหน่ง เป็นต้น
รถประจำตำแหน่งมีความจำเป็นสำหรับข้าราชการระดับสูงที่มีภารกิจจริงๆ ซึ่งน่าเชื่อได้ว่าทุกท่านใช้เฉพาะงานราชการ ไม่ได้ใช้เพื่อภารกิจส่วนตัว และไม่เคยให้คนใกล้ชิดเอาไปใช้ด้วย แต่การให้สิทธิข้าราชการระดับรองลงมาที่จำเป็นบ้าง ไม่จำเป็นบ้าง (ส่วนใหญ่ไม่จำเป็น) จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะการที่ข้าราชการระดับสูงซึ่งมีเงินประจำตำแหน่งนอกเหนือจากเงินเดือนมากอยู่แล้ว แต่ยังพยายามหาประโยชน์อื่นๆ อันไม่สมควรจากทางราชการอีก จึงถือเป็นการส่อทุจริต (คอร์รัปชั่น) นั่นเอง
ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2547 เรื่องการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งสำหรับข้าราชการผู้มีสิทธิได้รถยนต์ประจำตำแหน่งจึงควรถูกยกเลิก เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ต่อทางราชการแล้ว ยังเป็นการบ่มเพาะนิสัยคอร์รัปชั่นขึ้นในหมู่ข้าราชการอีกด้วย เพราะทำให้ผู้รับเงินค่าตอบแทนนี้รู้สึกเหมือนกับว่ามันเป็นสิ่งที่ได้มาอย่างถูกต้องชอบธรรม ทั้งๆ ที่เป็นเงินที่ได้มาอย่างไม่สมเหตุสมผลอย่างชัดเจน ซึ่งตามความเห็นโดยสุจริตของผู้เขียนก็น่าจะเป็นการคอร์รัปชั่นเช่นกันนั่นเอง
นี่คือกรณีตัวอย่างของการรุมทึ้งงบประมาณแผ่นดินของข้าราชการประจำ (อย่างถูกต้องตามกฎหมาย) แล้วเรื่องอย่างนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีที่มาจากข้าราชการประจำจะสนใจแก้ไขบ้างไหม?
ที่มา มติชน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559