พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและหารือแนวทางปฏิรูปการอุดหนุนเด็กยากจน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กับ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และคณะ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้อง MOC
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. ได้นำเสนอแนวทางปฏิรูปการอุดหนุนเด็กยากจนเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งใช้งานวิจัย “บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ” (National Education Account : NEA) เป็นฐานข้อมูลในการดำเนินงาน โดยบัญชีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอื่นๆ ว่า มีการใช้จ่ายงบประมาณในการศึกษาแต่ละด้านและแต่ละระดับอย่างไร รวมทั้งการใช้จ่ายด้านการศึกษาของภาคเอกชนและครัวเรือนด้วย
โดยผลการวิจัยดังกล่าวพบว่า ที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้เท่าที่ควร เพราะการจัดสรรงบประมาณยังไปไม่ถึงเด็กยากจนตัวจริงที่มีอยู่กว่า 2 ล้านคน เนื่องจากไม่มีระบบข้อมูลคัดกรองเด็กที่แม่นยำ การจัดสรรงบประมาณจึงเป็นแบบถัวเฉลี่ย ทำให้เด็กยากจนได้รับงบประมาณไม่เต็มที่
ดังนั้น สสค.จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อจัดระบบการจัดสรรงบประมาณแก่เด็กยากจนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีแผนที่จะดำเนินงานใน 4 ส่วน คือ
1) ปฏิรูปเกณฑ์และกระบวนการคัดกรองเด็กยากจน โดยจะใช้เกณฑ์คัดกรองตามเกณฑ์โครงการอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่องค์การยูนิเซฟและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พัฒนาขึ้น กล่าวคือ จะพิจารณาจากเด็กที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือต่ำกว่า 36,000 บาทต่อคนต่อปี ประกอบการพิจารณาเกณฑ์สถานะครัวเรือนด้วย เพื่อให้สามารถคัดกรองเด็กที่ยากจนจริงและไม่ได้รับความช่วยเหลือออกมาได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
2) จัดระบบสารสนเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลเด็กยากจนและพัฒนาให้เป็นระบบติดตามการเรียนของนักเรียนในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า
3) ควรให้เงินอุดหนุนแก่เด็กแบบไม่มีเงื่อนไข โดยไม่กำหนดจำนวนการมาเรียนขั้นต่ำของนักเรียน และให้แบบต่อเนื่องในปีถัดไปตลอดการศึกษาภาคบังคับ รวมทั้งให้น้ำหนักกับเด็กระดับก่อนประถมฯ (ปฐมวัย) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นไปเรียนชั้น ป.1 และข้อเสนอดังกล่าวเห็นว่า สพฐ.ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงจำนวนเงินที่เหมาะสมและมีความถี่สอดคล้องกับการโอนเงินอุดหนุนรายหัว เช่น โรงเรียนควรจัดให้มีระบบข้อมูลและระบบบัญชีค่าใช้จ่ายรองรับเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนไปแล้ว เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณตรงตามวัตถุประสงค์ และเชื่อมโยงกับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว
4) ควรเพิ่มบทบาทของกรรมการสถานศึกษา ในการพิจารณาหรือยืนยันข้อมูลสถานะทางเศรษฐกิจของนักเรียน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของ สสค. สอดคล้องกับแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้มีฐานข้อมูลกลางในแต่ละเรื่อง ที่จะสามารถนำมาใช้วางแผนงานและงบประมาณได้ ในส่วนของการคัดกรองเด็กยากจน เห็นด้วยที่จะต้องมีแนวทางการพัฒนาระบบให้มีความแม่นยำมากขึ้นที่จะสามารถคัดกรองเด็กยากจนจริงๆ โดยมอบให้ สพฐ.ประสานเรื่องของฐานข้อมูลและเกณฑ์การคัดกรองเด็กยากจนกับ พม. เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
สสค. จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน พ.ศ.2553 เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาและส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ตลอดจนให้เยาวชนมีคุณภาพและสุขภาวะที่ดีขึ้น มีการบริหารงานโดยคณะกรรมการ สสค. ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) เป็นประธานกรรมการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง
ผลการดำเนินงาน : ตลอดระยะเวลา 5 ปี (ปี 2553-2558) สสค.ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้มีบทบาทสร้างการเรียนรู้แก่เยาวชนและผู้แทนจากทุกภาคส่วนทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อดำเนินภารกิจที่สำคัญ 5 ด้าน คือ
1) ระดมพลังประชารัฐ เพื่อปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่ มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ 80 พื้นที่ต้นแบบที่มีระบบดูแลเฉพาะตัว (CMU) สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มด้อยโอกาส, 15 จังหวัดต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้, 91 ชุมชนต้นแบบเรียนรู้เพื่อสัมมาชีพ, 5 ศูนย์อาเซียน ที่หลอมรวมบ้าน-วัด-โรงเรียน เพื่อเตรียมชุมชนสู่อาเซียน
2) สร้างและจัดการความรู้เชิงระบบ มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ แม่ฮ่องสอนโมเดล สารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการศึกษา, บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ หรือ NEA (National Education Account), ทักษะชีวิตและโลกของงาน นำไปสู่การปฏิรูปกรอบหลักสูตรเพื่อการมีงานทำ
3) ส่งเสริมคุณค่าและสนับสนุนครูดี มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ 164 ครูดีที่ได้รับรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงและมีคุณูปการแก่วงการศึกษา, 18,870 ครูที่ได้รับรางวัล “ครูสอนดี” (สอนเป็น-เห็นผล-คนยกย่อง), 529 ทุนสำหรับครูผู้อุทิศตน ในโครงการดูแลด้อยโอกาสอย่างต่อเนื่อง
4) สนับสนุนนวัตกรรมการเรียนรู้ มีผลการดำเนินที่สำคัญ ได้แก่ 2,000 นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน, เด็กและเยาวชนได้รับประโยชน์ 350,000 คน, 95% โรงเรียนห่างไกลได้รับการพัฒนาคุณภาพผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้
5) สนับสนุนการรณรงค์สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปการเรียนรู้ระดับจังหวัด โดยสร้างพลังการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น, การวิจัยการใช้เวลาของครูไทย, จุดกระแสสังคมโดยการเปิดประเด็นสู่สาธารณะ
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559