'เกณฑ์พีเอ'เส้นทาง(ใหม่)สู่'วิทยฐานะครู':
เกศกาญจน์ บุญเพ็ญเรื่อง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.ภาพ
อีกไม่นาน “วิทยฐานะ” เส้นทางความก้าวหน้าของผู้ประกอบวิชาชีพครู กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ !!
ด้วย...กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : พีเอ) ว7/2558 หวังแก้ไขจุดบอด ของการประเมินวิทยฐานะ โดยเฉพาะในแง่คุณภาพที่ถูกมองว่า ผลงานที่ทำเน้นแต่เนื้อหาวิชาการ ทั้งยังไม่ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพหรือผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน เพราะไม่ถูกนำไปใช้จริง ไหนจะข้อครหาว่ามีครูบางรายทิ้งห้องเรียน ทิ้งนักเรียน เพื่อทำผลงานวิชาการ ยังไม่รวมปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย อาทิ ลอกผลงาน หรือครูบางรายยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินจ้างคนทำแทนก็มี
แต่เกณฑ์พีเอใหม่ตามแนวนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งให้การประเมินครูต้องสะท้อนความจริง เน้นผลสัมฤทธิ์การเรียนเป็นสำคัญ ไม่เพิ่มภาระครู ต้องทำให้ครูอยู่กับเด็กมากยิ่งขึ้น และการประเมินต้องตอบโจทย์ว่าครูดีจริง และรูปแบบประเมินต้องไม่ใช่รูปแบบเดียว เพราะครูมีหลากหลาย อาทิ ครูสอนเก่งแต่ทำผลงานวิชาการไม่เก่ง ครูทำผลงานเก่ง ครูที่สอบไม่เก่ง เขียนไม่เก่ง แต่เก่งด้านการสอน เป็นนักปฏิบัติ มีผลงานรางวัลมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด พื้นที่ชายขอบ และครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูแท้จริง ดังนั้น ต้องมีรูปแบบการประเมินที่หลากหลายเพื่อให้ครูเหล่านี้มีโอกาสได้เข้าสู่วิทยฐานะเช่นเดียวกับครูอื่นๆ
อย่างไรก็ดี รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ ระบุว่า ขณะนี้รูปแบบและรายละเอียดต่างๆ ของเกณฑ์พีเอค่อนข้างลงตัวแล้ว โดยจะแบ่งหลักเกณฑ์พีเอ ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การปฏิบัติหน้าที่ปกติ ครูทุกคนจะต้องเขียนแผนการปฏิบัติการสอน จัดทำสื่อการสอน การดูแลเด็กไม่น้อยกว่ากี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ฯลฯ เสนอผู้อำนวยการโรงเรียนโดยต้องทำเป็นกิจวัตร แต่จะไม่ใช่การกรอกเอกสารจำนวนมากๆ เช่นที่ผ่านมา และ 2.การพัฒนาเข้าสู่วิทยฐานะ ในทุกระดับจะต้องกำหนดเป้าหมาย แผนการพัฒนา และยิ่งวิทยฐานะสูงการไปสู่เป้าหมายจะยากขึ้นตามลำดับ ขณะที่ ในการกลั่นกรองการประเมินจะลดการใช้ดุลพินิจลง แต่จะให้ความสำคัญกับการพิจารณาจากหลักฐาน ข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจน โดยตั้งเป้าให้เริ่มใช้ปีการศึกษา 2559
ที่น่าสนใจ คือเรื่องคุณสมบัติของครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากต้องมีคุณธรรม จริยธรรม มีจรรยาบรรณความเป็นครู ไม่ถูกลงโทษทางแผ่นดิน ไม่ถูกลงโทษทางจรรยาบรรณจากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และไม่ถูกลงโทษจากต้นสังกัดแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อเรื่องความมีวินัยทางการเงินด้วย โดยจะระบุเพิ่มลงไปว่าจะต้องไม่ค้างชำระหนี้จนถึงขั้นถูกยื่นโนติส แม้สุดท้าย อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ จะตัดสินใจไม่เขียนลงไป เพราะไม่ต้องการให้กลายเป็นประเด็น แต่ก็ตระหนักดีว่าปัญหาหนี้สินครูก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และครูต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูกศิษย์ ถ้าพบภายหลังได้รับวิทยฐานะแล้วก็อาจจะไม่พิจารณาเลื่อนวิทยฐานะระดับถัดไป
จากนี้คงต้องรอคำตอบสุดท้ายจากที่ประชุม ก.ค.ศ. ว่าจะมีมติออกมาเช่นไร ซึ่งหากเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะมีครูและบุคลากรฯหลายแสนคน ต้องเข้าสู่การประเมินวิทยฐานะตามเกณฑ์พีเอ ส่วนที่ค้างท่อรอการประเมินใน 2 หลักเกณฑ์เดิม คือ หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ว 13/2556 และหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ว 17/2552 สำนักงานก.ค.ศ. ก็จะดำเนินการไปตามกระบวนการ
ส่วนความตั้งใจของ ศธ. ที่ต้องการหลอมรวมให้ระบบการประเมินความก้าวหน้าของครูในอนาคตเหลือเพียงรูปแบบเดียวนั้น คงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ !
ที่มา คม ชัด ลึก วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559