เสมา 1 เร่งคิดหลักเกณฑ์ประเมินข้าราชการ ศธ.ตั้งแต่ระดับ 9 ลงมา เผยต้องวัดทั้งไอคิว-อีคิว เก่งคนเดียวไม่ได้ ชี้ ก.ค.ศ.รื้อเกณฑ์เข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนล่าช้า ไม่ทันใจ จี้นำเกณฑ์ใหม่เข้าก.ค.ศ.นัดหน้า
วันนี้(3ก.พ.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ออกคำสั่ง เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการบุคลากรภาครัฐ เพื่อประโยชน์การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล แก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ปราศจากการทุจริต โดยกำหนดประเมินประสิทธิภาพส่วนราชการ และข้าราชการพลเรือนที่ปฏิบัติงานประจำ นั้น การประเมินข้าราชการระดับ 10 และ 11 รัฐบาลมีกรอบการประเมินอยู่แล้ว ซึ่ง ศธ.ก็รับแนวทางของรัฐบาลมาปฏิบัติ แต่สิ่งที่ ศธ. ต้องทำ คือ วางกรอบการประเมินข้าราชการระดับ 9 ลงมา ซึ่งตนได้มอบให้สำนักอำนวยการ สำนักงานปลัด ศธ.ไปออกแบบการประเมินทั้งหมด จากนั้นตนจะนำไปหารือร่วมกับ ปลัด ศธ. และเลขาธิการทุกองค์กรหลัก เพื่อให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันและนำไปใช้ประเมินโดยเร็ว
“เรื่องนี้ถือเป็นมิติใหม่ในการประเมิน โดยมีหัวใจหลัก คือ งานเป็นสำคัญ นำผลงานมาวัดกัน ระบบเส้นสายจะลดลงเพราะถูกฟ้องด้วยงาน ส่วนเรื่องของความโปร่งใส ก็มีอยู่ในหลักเกณฑ์การประเมินด้วย เรื่องการประเมินนี้ นายกฯมองลึกไปถึงว่า การทำงานต้องทำให้คนที่ร่วมงานรักด้วย ไม่ใช่ผลงานเด่นแต่คนเกลียดหมด การประเมินจะต้องดูทั้งไอคิว และอีคิว ไม่ใช่เก่งโดดอยู่คนเดียว หัวข้อวิธีการที่จะประเมินต้องตอบโจทย์ทั้งหมด ซึ่งเกณฑ์ประเมินจะดูทั้งงานประจำ และงานพิเศษที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งในบริบทของงานแต่ละงานก็ไม่เหมือนกัน” ) พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวและว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมา จะใช้ในการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย ไม่ใช่ประเมินข้าราชการพลเรือน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เรื่องที่ตนเฝ้ารอและคิดว่า ยังช้า ไม่ทันใจ คือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งเดิมจะใช้วิธีดูจากวุฒิการศึกษา และวิธีการสอบเข้าสู่ตำแหน่ง ซึ่งก็พูดกันแล้วว่า การใช้ข้อสอบ 300 ข้อยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ได้มาซึ่งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่เก่ง ดังนั้นหลักเกณฑ์การประเมินใหม่ ต้องมีมากกว่าการสอบแน่นอน อีกทั้ง ที่ผ่านมาก็มีปัญหาว่า ผู้บริหารสถานศึกษามีประสบการณ์ไม่พอ ใครทำข้อสอบได้ ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเร็ว และบางคนไม่เคยมีประสบการณ์เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเล็กมาก่อน ทำข้อสอบได้ ก็ข้ามไปเป็น ผู้อวยการโรงเรียนขนาดใหญ่เลย โดยไม่ผ่านโรงเรียนขนาดกลาง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบริหารงานตามมา ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่จะต้องตอบโจทย์และแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ได้ ซึ่งตนได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปเร่งดำเนินการ และนำมาเสนอในการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งต่อไป
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559