เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2559 เรื่องมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ โดยมีผลบังคับใช้แล้วหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 29 ง เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา
หลักใหญ่ใจความของคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว คือการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศนั่นเอง โดยคำสั่งยังได้กำหนดการประเมินและผู้รับการประเมินผลไว้ด้วย ซึ่งดูเหมือนคำสั่งพุ่งเป้าปีที่ส่วนราชการระดับกรมและกระทรวง ประเภทข้าราชการพลเรือนบริหารระดับสูงเป็นด้านหลัก
โดยตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ.2556-2561) โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ระบุตัวเลขกำลังพลภาครัฐ ซึ่งใช้ตัวเลขล่าสุดปี 2554 เป็นฐานระบุว่ามีทั้งสิ้น 13 ประเภท จำนวน 1,649,624 คน แบ่งเป็น ข้าราชการพลเรือนสามัญ 358,735 คน ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 36,150 คน ข้าราชการตำรวจ 209,275 คน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 451,324 คน ข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 13,627 คน ข้าราชการอัยการ 3,175 คน ข้าราชการทหาร 377,529 คน ข้าราชการตุลาการ 4,297 คน ข้าราชการรัฐสภา 3,004 คน ข้าราชการกรุงเทพมหานคร 36,659 คน ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด 8,490 คน ข้าราชการเทศบาล 82,516 คน และข้าราชการองค์การบริหารส่วนตำบล 64,843 คน
หากพิจารณาเฉพาะตัวเลขข้าราชการพลเรือน 358,735 คน หรือ 21.75% โดยยึดตามคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่เพ่งเล็งระดับนักบริหารนั้นจะมีอยู่ 1,049 ราย ซึ่งปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวก็น่าจะขยับขึ้นอีกตามอัตรากำลังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี โดยคำสั่งที่ 5/2559 ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่สร้างความหวาดผวาให้ข้าราชการระดับสูงทั้งหลายคงไม่มีข้อใดเกินเรื่องการให้ ก.พ.ร.กำหนดอัตราข้าราชการเป็นกรณีพิเศษ 50 อัตรา หรือภาษาชาวบ้านที่เรียกว่ากรุเพื่อรองรับการโยกย้ายจากงานที่ไม่เข้าตา หรือกรณีมีความผิดและถูกตรวจสอบ ซึ่งแม้มีอัตราเล็กน้อยเพียง 5% ก็ตามที แต่เชื่อว่าจะเป็นเยี่ยงอย่างให้ระบบข้าราชการทั้งระบบได้ไม่มากก็น้อย
แต่ปัญหาที่สำคัญและฝังรากลึกในสังคมไทยในระบบราชการนั้น มิใช่มีเพียงแค่ระดับบริหารหรือระดับบนเท่านั้น ในระดับปฏิบัติงานที่คลุกคลีตีโมงกับชาวบ้านร้านถิ่นเองก็เป็นปัญหามาเนิ่นนาน โดยเฉพาะการทำตัวเป็นนายเหนือประชาชนผู้เสียภาษีให้เป็นเงินเดือนแก่ราชการ ซึ่งคำสั่งของ คสช.ครั้งนี้ก็ไม่ได้มีการคาดโทษหรือพุ่งเป้าเหมือนกรณีผู้บริหารระดับสูงแต่ประการใด เช่นเดียวกับข้าราชการในส่วนอื่นๆ ที่ดูเหมือนหัวหน้า คสช.จะไม่ให้ความใส่ใจและสนใจเท่าใดนัก โดยเฉพาะในส่วนของข้าราชการทหารและตำรวจ ที่ระบุเพียงให้กระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติประเมินแล้วแต่กรณีเท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพข้าราชการ ซึ่งถือเป็นลูกจ้างรายใหญ่ที่สุดของประชาชนทั้งประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ดีและควรทำอย่างต่อเนื่อง มิใช่ทำเพียงแค่เป็นกระแสหรือไฟไหม้ฟางเท่านั้น ที่สำคัญการปรับปรุงมิใช่พุ่งเป้าเพียงแค่ข้าราชการพลเรือนสามัญระดับสูงเท่านั้น แต่ควรจะครอบคลุมข้าราชการทั้ง 13 ประเภทด้วย เพราะทั้งหลายทั้งมวลก็ได้ใช้เงินภาษีของประชาชนคนไทยเป็นเงินดำรงชีวิตอยู่
ที่สำคัญ และควรเน้นหนักอย่างยิ่งควบคู่ไปกับการขันนอตการปฏิบัติงานของข้าราชการ คือการสร้างจิตสำนึกว่าข้าราชการนอกจากเป็นข้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้ว ก็ยังเป็นข้าของคนไทยทั้งประเทศ มิใช่เป็นเจ้านายประชาชนอย่างที่ยืดถือมานานแสนนานด้วย.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559
http://www.thaipost.net/?q=ขันนอตการปฏิบัติราชการ