โดย ฟาฏินา วงศ์เลขา
เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การวางยุทธศาสตร์ที่ดีจะเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของการบริหารงานให้ไปสู่ความสำเร็จแต่การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้นั้นจึงเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมากไปกว่าการกำหนดยุทธศาสตร์หลายเท่านัก เพราะจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างที่จะมาเป็นตัวขับเคลื่อนผลักดันให้นำไปสู่ความสำเร็จ เช่น การบริหารจัดการ โครงสร้างขององค์กร ภาวะผู้นำของผู้บริหาร ระบบการกำกับ ติดตาม ประเมินผล เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญยิ่งคือการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายในองค์กรและทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นั่นเอง
กระทรวงศึกษาธิการเป็นองค์กรใหญ่ ประกอบด้วย 5 องค์กรหลัก คือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งแต่ละองค์กรมีสถานศึกษา ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมาก ยกเว้น สกศ. เพียงองค์กรเดียวที่ไม่มี สถานศึกษาในสังกัด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลในส่วนของนโยบายการศึกษาระดับชาติ
ดังนั้นหากพิจารณาข้อมูลพื้นฐานของ สพฐ. เพียงหน่วยงานเดียวจะพบว่า สพฐ. มีสถานศึกษาในสังกัดทั้งสิ้น 30,816 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนประถมศึกษา 28,358 แห่ง (ขยายโอกาสทางการศึกษา 7,082 แห่ง) โรงเรียนมัธยมศึกษา 2,361 แห่ง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 51 แห่ง โรงเรียนศึกษาพิเศษ 46 แห่ง และมีศูนย์การศึกษาพิเศษอีก 77 แห่ง ส่วนจำนวนนักเรียน 7,063,784 คน บุคลากร 418,949 คน แยกเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 417,980 คน (ผู้บริหาร 33,041 คน ครู 369,371 คน บุคลากรทางการศึกษา 15,568 คน) และข้าราชการพลเรือนในส่วนกลางอีก 969 คน จะเห็นว่า สพฐ. เป็นองค์กรที่ใหญ่มากเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการศึกษาในประเทศไทยยังพบประเด็นปัญหามากมาย เหมือนเป็นมะเร็งร้ายที่เรื้อรังมานานจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน ที่พบว่าเด็กเครียด ต้องเรียนเยอะ ไม่มีความสุขกับการเรียน ผลสัมฤทธิ์ต่ำ เนื้อหาไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลง การเรียนภาษาอังกฤษยังขาดมาตรฐาน อีกทั้งครูไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องการสอน ขาดเทคนิคการสอน ครูไม่ครบชั้น สอนไม่ตรงกับสาขาวิชาที่จบ ภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอนเยอะทำให้ต้องปล่อยปละละเลยงานสอน ส่วนไอซีทีเพื่อการศึกษานั้น โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ทั่วถึง ขาดความเสถียร ระบบฐานข้อมูลไม่ทันสมัย ขาดการบูรณาการ ไม่ได้นำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ อีกทั้งยังมีความหลากหลายของระบบการจัดเก็บเนื้อหาสาระหรือองค์ความรู้ ผลิตแต่ไม่เผยแพร่และนำไปใช้ เป็นต้น หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หายขาด การศึกษาของประเทศไทยก็คงจะเปรียบเสมือนคนที่ก้าวเดินถอยหลัง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนว่าจะทิ้งห่างประเทศไทยออกไปเรื่อย ๆ หากยังไม่แก้ไขอย่างจริงจัง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ประชาชน สังคมพึงพอใจ ประเทศได้คนดีมีคุณภาพ อีกทั้งมุ่งเน้นให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรหลักและหน่วยงานทางการศึกษาต้องสอดคล้องตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดจุดเน้นแนวทางปฏิรูปการศึกษา 6 ยุทธศาสตร์ คือ
1. หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
2. ครู
3. การทดสอบ การประเมิน การประกันคุณภาพ และการพัฒนามาตรฐานการศึกษา
4. การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ
5. ไอซีทีเพื่อการศึกษา และ
6. การบริหารจัดการ
ทั้งนี้ การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจะช่วยขจัดปัญหาต่าง ๆ ให้จางหายได้ในที่สุด
ขอย้อนกลับไปถึงวันที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ แถลงนโยบายด้านการศึกษาตอนที่เข้ารับตำแหน่ง ใหม่ ๆ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การน้อมนำกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3 ประการ คือ "ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู" "ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่า ช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า" "ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี" มาฝากให้ครูนำไปเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานและมุ่งเน้นให้ครูจัดกิจกรรมโดยการถ่ายทอด พระราชดำรัสดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะครูถือเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่สังคมคาดหวัง ซึ่งจะเป็นเส้นทางนำสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาต่อไป
การศึกษาต่อไป ทั้งนี้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ "ครูผู้สอน" ต้องผนึกพลังความร่วมมือในการขับเคลื่อน โดยนำแนวทางการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ไปสู่แผนปฏิบัติการระดับพื้นที่ให้สามารถนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และจะต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบด้วย.
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 2 ก.พ. 2559 (กรอบบ่าย)