"สมคิด"เผย"ดาว์พงษ์"หนุนเดินหน้าแยกกระทรวงอุดมศึกษาให้เสร็จใน 15 เดือน ก่อนรัฐบาลหมดวาระ ยัน"รัฐบาลมหาวิทยาลัย"เห็นด้วย คาดเดินหน้า เต็มสูบหลังมีพรบ.การศึกษาแห่งชาติ ขณะที่สกอ.ตั้งอนุกรรมการ 2 ชุดวางแผน ผลิตคนรองรับ"งาน"หลังผลสำรวจ ธนาคารโลกชี้ไทยขาดแคลนแรงงานฝีมือมากสุดในอาเซียน
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เปิดเผยถึงข้อเสนอการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ออกมาเป็น กระทรวงการอุดมศึกษาว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสเข้าพบพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และได้สอบถามถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่ง รมว.ศธ.ให้ความสนใจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา จาก ของเดิมที่ฝ่ายกฎหมายของสกอ.ร่างไว้ โดยคาดว่าเรื่องการแยกกระทรวงหรือการปรับโครงสร้าง คงจะดำเนินการหลังจากมี การศึกษาพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายใหญ่ที่สุดแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม เรื่องการแยก กระทรวงการอุดมศึกษานั้น ทางรัฐบาลและพล.อ.ดาว์พงษ์ เห็นด้วยและกำลังศึกษาเรื่องนี้ โดยมีแนวโน้มในทางบวกว่าจะมีการแยกกระทรวง และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน15 เดือนก่อนรัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระ "การแยกสกอ.มาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษานั้น แม้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะ เห็นด้วย และมีการส่งร่างกฎหมายเป็น ที่เรียบร้อย รวมทั้งรัฐบาลก็ให้ความสนใจ แต่เรื่องการตั้งกระทรวงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวข้องทางด้านการบริหาร และการเมือง ดังนั้นคงต้องรอดูรัฐบาลว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก็กำลังรอดูอยู่"
"ดาว์พงษ์"นัดถกพรบ.อุดมศึกษา8กพ.
น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า วันที่ 8 ก.พ.นี้ รมว.ศึกษาธิการได้มีการนัดประชุมหารือกับผู้บริหาร สกอ. พิจารณาร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา รวมถึงข้อกังวลต่างๆของมหาวิทยาลัย เช่น เรื่องการให้อำนาจกับสกอ.มากเกินไป ซึ่งจากการหารือภายในแล้วหลังจากนั้นจะเชิญมหาวิทยาลัยต่างๆเข้ามารับฟังข้อเสนอแนะต่อไป
อย่างไรก็ตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขอยืนยันว่าวัตถุประสงค์ไม่ได้ต้องการให้สกอ.มีอำนาจมาก แต่เป็นการให้สกอ.มีอำนาจที่จะเข้าไปดูแลมหาวิทยาลัยที่กระทำผิด กระทบกับคุณภาพด้านการศึกษาและสาธารณะ ไม่ได้ ต้องการอำนาจอะไรมากมาย
สกอ.ตั้งอนุฯ2ชุดแก้ปัญหาผลิตคน
ส่วนกรณีผลการสำรวจของธนาคารโลก ซึ่งระบุว่าไทยขาดแคลนแรงงานมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า คงต้องดูรายละเอียด ผลการสำรวจดังกล่าวอีกครั้งว่า เป็นการขาดแคลน แรงงานในระดับใด แต่เท่าที่ทราบน่าจะเป็นแรงงานด้านวิชาชีพ มากกว่าปริญญาตรี
โดยขณะนี้ สกอ.อยู่ระหว่างการเตรียม การในการผลิต และพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับโครงการเมกะโปรเจคของรัฐบาล เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมกกอ.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้แล้ว ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการการศึกษาและวางแผนการผลิตกำลังคน เพื่อรองรับการพัฒนาระบบการคมนาคมและการ ขนส่ง สาขาการขนส่งทางราง และคณะอนุกรรมการการวางแผนการผลิต และพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พัฒนาหลักสูตรรับเศรษฐกิจดิจิทัล
อย่างไรก็ตามต่อจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองชุด ต้องกลับไปศึกษาวิเคราะห์แนวทางในการดำเนินการ เพื่อกำหนดกรอบนโยบายในการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการพัฒนาระบบการคมนาคมและการขนส่ง สาขาการขนส่งทางราง และกรอบนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ต้องพิจารณาข้อมูลเชิงปริมาณ ทั้งจำนวนการผลิตบัณฑิต และการคาดการณ์ความต้องการกำลังคนของประเทศ
พร้อมทั้งกำหนดหลักสูตร และสาขาวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านเหล่านี้ต่อไป โดยจะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาเสนอต่อที่ประชุม กกอ. ต่อไป ซึ่งเมื่อการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ผ่านความเห็นชอบของ กกอ. แล้ว คณะอนุกรรมการฯ ก็จะไปหารือร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ซึ่งขณะนี้กำลังมีการพัฒนาเรื่องระบบรางอยู่
ต้องศึกษาวิเคราะห์แนวทางในการดำเนินการ เพื่อกำหนดกรอบนโยบายในการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการพัฒนาระบบการคมนาคมและการขนส่ง สาขาการขนส่งทางราง และกรอบนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งจำนวน การผลิตบัณฑิต และการคาดการณ์ความต้องการกำลังคนของประเทศพร้อมทั้งกำหนดหลักสูตร
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ