การใช้เงินของเวียดนามมีพัฒนาการตั้งแต่เริ่มเป็นอาณานิคมของจีน ช่วงที่เป็นอาณานิคมจีนใช้ระบบเงินตราแบบจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นและราชวงศ์ถัง ซึ่งเริ่มใช้โลหะมาทำเป็นเงินก้อน (đĩnh bạc ดิ๋ญ บั่ก) ทองก้อน (đĩnh vàng ดิ๋ญ หว่าง) และ เหรียญทองแดง (tiền đồng เตี่ยน ด่ง) แล้ว
คำว่า เงินด่ง หรือ เตี่ยนด่ง tiền đồng ต่อมาได้กลายเป็นคำที่ใช้เป็นมาตรฐานทั้ง ๒ คำ คือ เตี่ยน tiền หมายถึง เงินทุกชนิด หรือเงินโดยทั่วไป ส่วน ด่ง đồng หมายถึงหน่วยของเงินเวียดนาม ทั้ง ๒ คำ มาจากภาษาจีนว่า 銅錢 โถง เฉียน หมายถึง เงินทองแดง หรือ เหรียญทองแดง ดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่ในภาษาเวียดนามไม่อ่านตามจีน อ่านตามวิธีของเวียดนาม จึงเป็น เฉียนโถง หรือ เตี่ยนด่ง นั่นเอง
สมัยเวียดนามเป็นอิสระจากอำนาจของจีน แต่ละราชวงศ์มีการหล่อเงินของตนเองออกมาใช้ เช่น เหรียญตะกั่ว (tiền เตี่ยน จี่ หรือ tiền duyên เตี่ยน เซวียน) เหรียญสังกะสี (tiền kẽm เตี่ยน แก๋ม) เหรียญเหล็ก (tiền sắt เตี่ยน ซัต หรือ tiền thiết เตี่ยน เที้ยต) และ ตั๋วแลกเงิน (tiền giấy เตี่ยน เซ้ย หรือ sáo เซ้า) เงินพวกนี้ใช้ในสมัย ราชวงศ์ดิญ (Đinh) มาจนถึงราชวงศ์เล (Lê) และต้นราชวงศ์เหวียน (Nguyễn) ตอนครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ โดยช่วงหลัง ๆ มีพัฒนาการของเงินรูปร่างเป็นแท่ง มีแท่งเงิน (thoi bạc ทอย บั่ก) แท่งทอง (thoi vàng ทอย หว่าง) รวมทั้งเหรียญเงิน (đồng bạc ด่ง บั่ก) เหรียญทอง (đồng vàng ด่ง หว่าง) ด้วย
เตี่ยนหรือเงินของเวียดนามในยุคเก่าก่อนฝรั่งเศสเข้ามายึดครอง เป็นรูปแบบที่รับมาจากจีนทั้งสิ้น มีลักษณะเป็นเหรียญ มีรูสี่เหลี่ยมอยู่ตรงกลาง เวลาใช้จะร้อยรูเป็นพวงนำติดตัวไป
ในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม ฝรั่งเศสนำเงินปียัสทร์ (piastre) ซึ่งโดยทั่วไปเรียกว่า เงินเปียส มาใช้ทั่วอินโดจีน คนเวียดนามเรียกเงินเปียส ว่า บั่ก (bạc) แปลว่า โลหะเงิน เนื่องจากเงินเปียสนั้น ทำจากโลหะเงินในเม็กซิโก โดยเริ่มแรกมีเหรียญเงินหล่อในเม็กซิโก น้ำหนัก ๒๗.๗๓ กรัม เงินตราของเวียดนามยังมีต่อคราวหน้า.
พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล เขียน
ชลธิชา สุดมุข สรุป
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์