“เอลิซาเบธ ชอตเตอร์” นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ผู้นำทีมนักวิจัยที่ประมวลและวิเคราะห์ผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับเทคนิคในการอ่านหนังสือเร็วแบบต่างๆ ที่ผ่านมาหลายสิบปี เพื่อหาคำตอบว่า เทคนิคดังกล่าวให้ผลอย่างไรต่อการอ่านหรือไม่ สรุปผลการวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ยืนยันว่า การอ่านเร็วไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้อ่านแต่อย่างใด
ศ.ชอตเตอร์ระบุว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เท่าที่มีทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ความเร็วในการอ่านจะต้องแลกกับความถูกต้องในการอ่าน ยิ่งเร็วมากขึ้นเท่าใด ยิ่งเข้าใจสิ่งที่อ่านได้น้อยลงมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้ ข้อมูลของสมาคมวิทยาศาสตร์เชิงจิตวิทยาของสหรัฐระบุว่า เทคโนโลยีเพื่อการอ่านเร็วส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ลดการเคลื่อนลูกตาของผู้อ่าน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การกลอกตาไปมานั้นใช้เวลาเพียงกว่า 10% ของกระบวนการอ่านของคนเราเท่านั้น นอกจากนั้น การลดการกลอกลูกตาไปมาจะส่งผลให้ผู้อ่านไม่ได้ย้อนกลับไปอ่านและตรวจสอบส่วนของข้อความที่ไม่เข้าใจ ส่งผลให้ความเข้าใจในการอ่านแย่ลงนั่นเอง
ความสามารถในการอ่านไม่ได้เกิดจากการมองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับขีดความสามารถในการจดจำและเข้าใจถ้อยคำและความสามารถในการประมวลคำต่างๆ เข้าเป็นประโยคที่มีความหมายอีกด้วย
การอ่านเร็วอาจเป็นประโยชน์อยู่บ้างในกรณีที่เป็นเพียงความพยายามทำความเข้าใจข้อความหรือเนื้อหาคร่าวๆ และผู้อ่านคุ้นเคยกับวิธีการเขียน รูปแบบการเขียนจนสามารถรู้ได้ว่าจะเลือกอ่านตรงจุดไหน และข้ามหรืออ่านแบบไม่จับใจความส่วนใดได้บ้าง แต่ยังสามารถทำความเข้าใจถึงเนื้อหาโดยรวมคร่าวๆ อยู่ได้
ซึ่งถือเป็นการ “เลือกอ่าน” ไม่ใช่การ “อ่านเร็ว” แต่อย่างใด
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 28 มกราคม 2559