หวังตอบโจทย์คุณภาพการศึกษา ยันลดเวลาเรียนไม่กระทบ “โอเน็ต”
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยหลังชี้แจงนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” กับการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ผ่านรายการสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (อีทีวี) ว่า หลังดำเนินนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มาได้ 2 เดือน พบปัญหาว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่กังวลว่าลดเวลาเรียนแล้ว เด็กจะไม่มีความรู้เพียงพอที่จะไปสอบโดยเฉพาะโอเน็ต จึงอยากให้ผู้ปกครองไม่ต้องกังวล ก่อนหน้านี้ได้หารือ กับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)แล้ว และ สทศ. ยืนยันว่าจำนวนชั่วโมงเรียนที่ลดลงเพียงพอ กับการสอนเนื้อหาวิชาหลักที่เด็กจะนำความรู้มาใช้สอบ ทั้งนี้ การสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 2558 ในเดือน ก.พ.นี้ ตนเฝ้ารอคะแนนโอเน็ตของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ แต่คงจะบ่งชี้อะไรไม่ได้มากนักเพราะเพิ่งเริ่ม แต่อีก 2-3 ปีข้างหน้าต้องดีขึ้น เด็กจะมีการคิดวิเคราะห์ที่ดีขึ้นแน่นอน
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เผยหลังประชุมหารือการจัดทำข้อสอบร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และองค์กร หลักของ ศธ. โดยที่ประชุมได้หารือถึงการจัดสอบทั้งโอเน็ต การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (วีเน็ต) และการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (เอ็นที) ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการเห็นว่ากระบวนการจัดสอบยังไม่ตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาทั้งหมด อยากให้
การออกข้อสอบเน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ และเทียบเคียงในระดับสากลได้ โดยให้ สทศ.ไปศึกษาข้อมูลการออกข้อสอบที่สอดคล้องและเทียบเคียงกับการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA นอกจากนี้ ยังให้ สพฐ.กลับไปทบทวนการออกข้อสอบโดยเน้นข้อสอบอัตนัยมากขึ้น เริ่มจากภาษาไทยในชั้น ป.3 เพื่อให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น ซึ่ง สพฐ.แจ้งว่าได้เริ่มดำเนินการใช้ข้อสอบอัตนัยไปแล้วร้อยละ 30 ขณะที่ สทศ.ชี้แจงว่าการสอบโอเน็ตปีการศึกษาหน้าจะมีข้อสอบอัตนัยร้อยละ 20 และในอนาคตจะครอบคลุมทุกวิชาและทุกชั้นเรียน.
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 29 มกราคม 2559