พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยยึดถือภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นฐานด้วยระบบ TEPE Online (Teachers and Educational Personnels Enhancement Based on Mission and Functional Areas as Majors) ร่วมกับ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการ (สำนักงาน ก.ค.ศ.) และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) โดยมี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมหารือ เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2559 ที่ห้องประชุม MOC
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า จากการที่ สพฐ. ร่วมกับสำนักงาน ก.ค.ศ. และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พัฒนาระบบ TEPE Online ภายใต้หลักการ “พัฒนาครู ก้าวสู่อนาคตชาติ ทุกคนเรียนรู้ได้ ทุกที่ ทุกเวลา” (Anyone, Anywhere, Anytime) ซึ่งได้ประกาศเริ่มใช้อย่างเต็มระบบไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 เพื่อให้เป็นระบบที่มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการใช้งบประมาณในการพัฒนาครูจำนวนมาก โดยการพัฒนาผ่านระบบออนไลน์จะช่วยประหยัดงบประมาณจากการพัฒนาแบบเดิม ทั้งการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและการพัฒนาครูผู้ช่วยเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัวครูจากการพัฒนาตนเอง รวมทั้งแก้ปัญหาดึงครูออกนอกโรงเรียน/นอกพื้นที่ปฏิบัติงาน การพัฒนาครูไม่ตรง/ไม่ครอบคลุมตามความต้องการจำเป็น ไม่มีระบบการพัฒนาครู วัด ประเมินผล ตลอดจนนำผลประเมินไปใช้อย่างเป็นระบบ โดยสามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายหลักออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ครู ศึกษานิเทศก์ รองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสังกัด สพฐ. และ 2) พนักงานราชการและอัตราจ้างชั่วคราวตำแหน่งครู
ในส่วนของระบบการพัฒนา TEPE Online ซึ่งประกอบด้วย 3 ระบบหลัก คือ ระบบสมาชิกออนไลน์ ระบบการพัฒนาครู และระบบการสอบรับรองความรู้ ขณะนี้มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานในหลายส่วน ดังนี้
- การพัฒนางานในหน้าที่ (ระบบ UTQ) ได้มีการเปิดระบบพัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา 131 รายวิชาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2559 พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ TEPE Online ระดับภาค 9 ศูนย์ และระดับจังหวัด 84 ศูนย์ ตลอดจนเตรียมจัดทำและพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมอีก 30 รายวิชา
- การเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มครูผู้ช่วย โดยได้จัดทำและพัฒนาหลักสูตรพัฒนางาน พัฒนาตน 13 รายวิชาเสร็จเรียบร้อย พร้อมนำเสนอ ก.ค.ศ.ให้ความเป็นชอบแล้ว ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาโปรแกรมและสามารถเปิดระบบการพัฒนาได้ภายในเดือนมีนาคม 2559
- การพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ โดยได้จัดทำและพัฒนาหลักสูตรก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ สำหรับผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และศึกษานิเทศก์ รวม 279 หลักสูตรแล้วเสร็จ เพื่อเตรียมนำเสนอ ก.ค.ศ.พิจารณาต่อไป
- การพัฒนาก่อนแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ รวม 78 รายวิชา เพื่อเตรียมนำเสนอ ก.ค.ศ.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
- การขอมีและขอต่อใบประกอบวิชาชีพ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครู ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ รวม 30 รายวิชา พร้อมทั้งเตรียมหลักสูตรขอต่อใบประกอบวิชาชีพ 3 รายการเสนอต่อคุรุสภาพิจารณา
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ ที่จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงระบบการประเมินผลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการประเมินครูเพื่อวัดความรู้ ทักษะการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนความเป็นครู ที่จะต้องมีการปรับแบบประเมินให้สามารถวัดผลได้อย่างเที่ยงตรงจริงและมีความชัดเจน โดยเฉพาะด้านจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่จะต้องตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นรูปธรรม และในส่วนของผู้บริหาร ขอให้เน้นความเป็นผู้นำ (Leadership) โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียน ที่จะต้องมีการประเมินผลความเป็นผู้นำอย่างเข้มข้น
ดังนั้น ก.ค.ศ.จะต้องวาดภาพครูในจินตนาการว่า ต้องการให้ครูเป็นอย่างไร จากนั้นจึงออกแบบประเมินเพื่อตอบโจทย์สิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งหารือกับ สพฐ.ในฐานะผู้ใช้ครูด้วยว่าตรงกับภาพของครูตามที่ต้องการหรือไม่ ส่วนของการแสดงผลการประเมินไม่ควรเป็นแบบผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น แต่ควรแสดงเป็นระดับคะแนน เพื่อทำให้เห็นระดับความเก่งของครู พร้อมทั้งมีการประมวลผลคะแนนเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาทราบต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการพัฒนาครูด้วยระบบออนไลน์เพราะช่วยประหยัดงบประมาณ แต่ขอเน้นให้ครูสามารถเข้าถึงระบบได้ง่าย และไม่เป็นการเพิ่มภาระครูโดยไม่จำเป็น ตลอดจนไม่ดึงครูออกนอกห้องเรียน สำหรับการขอหรือต่อใบประกอบวิชาชีพครูนั้น ควรนำผลประเมินจากการสอนมาพิจารณาประกอบการขอต่อใบประกอบวิชาชีพ เพื่อเป็นการประเมินจากสิ่งที่ทำคือการจัดการเรียนการสอน และประเมินจากผลที่ได้คือผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนด้วย
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 26 มกราคม 2559