ตำนานหัวล้านไทย
...เห็นว่า เป็นความรู้ที่น่าควรแก่การศึกษา..อีกอย่างหนึ่ง..หรือรู้ไว้ใช่ว่า...(มิมีเจตนา อื่นใด..หากท่านใดเคืองขุ่นในชื่อเรื่องและเนื้อหา
กราบขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ)
...................
ตำรับหัวล้าน
หัวล้าน มีหลายแบบ เหมือนคนมีผมหลายทรง คนสมัยก่อนเขาจึงมีคำเรียกคล้องจองกันไว้ต่างๆกันหลายสำนวน มีตำรับหนึ่งเขาแยกแยะเอาไว้ว่า ทุ่งหมาหลง ดงช้างข้าม ง่ามเทโพ ชะโดตีแปลง แร้งกระพือปีก ฉีกหาง(ขวาน)ฟาด ราชคลึงเครา
บางแห่งก็มีเรียกต่างไปเป็น ทุ่งหมาหลง ดงช้างข้าม ง่ามเทโพ ชะโดตีแปลง แร้งกระพือปีก ครึ่งซีกพระจันทร์ สุริยันหมดเมฆ
หัวล้านจันทบูร มีชื่อเรียกต่างออกไปว่า ฉอกหมาหลง ดงช้างข้าม ห้ามไม่หยุด หลุดท้ายทอย ห้อยหนองปรือ ลือทั่วบ้าน ล้านเฉ่งเหม่ง
ทุ่งหมาหลง
คือพวกที่หัวล้านอย่างมาก ล้านตกขอบ มีผมไว้พอให้เดาว่าเป็นหัว เฉพาะตรงตีนผมเท่านั้น เปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นทุ่งก็มองเห็นแต่ฟ้ากับฟ้า เอาหมาไปปล่อยก็หลง หาทิศหาทางไม่เจอ ซ้ายขวาหน้าหลังมีแต่ความเวิ้งว้าง (จะดมกลิ่นก็คงเหมือนๆกันหมด) แม้แต่หมาก็กลับไม่ถูก
ดงช้างข้าม
คือหัวล้านเป็นทางจากหน้าผากไปถึงท้ายทอย ดูคล้ายๆแม่น้ำ โดยมีปากน้ำอยู่เหนือหน้าผากก็ได้ แต่ถ้าจะเปรียบเป็นดง รอยหัวล้านเขาว่าเหมือนทางเดินของช้าง จะกว้างมากกว้างน้อยก็สุดแท้แต่ แต่จะไม่ตกขอบ คือช้างยังพอจะเห็นแนวป่าอยู่ทั้งสองฟากฝั่งได้ ถ้าป่าเตียนหมดจะไปเข้าลักษณะทุ่งหมาหลงแทน (ที่ป่าเขาที่ไม่มีป่าหรือต้นไม้เขาก็เปรียบเป็นเขาหัวโล้นเหมือนกัน )
ง่ามเทโพ
อันนี้คือล้านเถิกขึ้นไปสองข้างขมับ มีผมไว้ตรงกลาง หรือ กระหม่อมไปจนถึงด้านหลัง
ชะโดตีแปลง
คือล้านเป็นวง กลางกบาล มีผมรอบๆทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง เหมือนปลาชะโดตีแปลงจนน้ำกระเซ็นออกไปรอบทิศ ถ้าน้ำน้อยจนเกือบเป็นโคลนตม แล้วชะโดตีแปลง ก็จะมีส่วนที่น้ำขังเป็นวงกลม ล้านแบบนี้ต้องมองมุมสูง คือมองจากด้านบนจะเห็นชัด
แร้งกระพือปีก
คือล้านเถิกไปทั้งสองข้างขมับ ลึกโอบกระหม่อม ไปต่อกันด้านหลัง เหลือกระจุกผมอยู่เพียงด้านหน้าเหมือนโดนปีก(แร้ง)กระพือมารวมไว้
ฉีกหางฟาด
บางทีก็เรียกว่า ฉีกขวานฟาด หมายความว่าล้านไม่เลื่อม ยังมีผมบางๆอยู่ อุปมาดั่งฉีกหาง(ปลาหรือวัว)ฟาดลงไป จะเห็นเป็นเส้นเป็นแนวอยู่ ส่วนที่เป็นเวิ้งผมบางๆ อาจมีขอบรูปหางไปจนจดท้ายทอยก็ได้
ราชคลึงเครา
บางทีสะกดครึงเคราก็มี หมายความถึงพระราชาลูบเครานั่นเอง คงจะหมายถึงหัวล้านแบบต่างๆที่ว่ามาก่อนหน้านี้ แต่เพิ่มหนวดเคราที่ดกเกินธรรมดาเข้าไป คนหัวล้านชนิดนี้จะมีขนอกอีกต่างหาก อย่างขุนช้างก็เข้าข่าย ดังคำบรรยายขุนช้างที่ว่า “ หัวล้าน อกขนแต่เกิดมา ”
ครึ่งซีกพระจันทร์
คือล้านที่ด้านหน้าตรงหน้าผากเว้าขึ้นไปด้านบน เป็นรูปครึ่งวงกลม เหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก ล้านแบบนี้ดูคล้าย “ล้านรอยควาย” ของภาคเหนือตอนล่าง
สุริยันหมดเมฆ
คือล้านเกลี้ยงทั้งหัว ล้านสมบูรณ์แบบ เห็นหัวแดงเหมือนดวงอาทิตย์ เหมือนกับล้านเฉ่งเหม่งของจันทบูร และ ล้านแบบตังโคตรบ่มีของล้านนา
ความเชื่อเรื่องลักษณะของคนหัวล้าน
๑. ล้านเฉลิมรอยควาย คือ ล้านเว้าหน้า เชื่อว่า เป็นคนใจนักเลง ใจกว้างกับเพื่อนฝูง เพื่อนฝูงรักใคร่ ส่วนมากจะเป็นผู้นำคน
๒. ล้านชะโดตีแปลง หรือ ล้านกำแหง คือ ล้านตรงกลางหัว เชื่อว่าเป็นนักเลง คนดุ
๓. ล้านเศรษฐี คือ ล้านเลี่ยนเตียนโล่ง เหลือผมหลีกหวี หรือ เหลือผมเฉพาะเหนือใบหูข้างละนิด ล้านชนิดนี้เชื่อว่าเป็นคนร่ำรวยมีเงิน
๔. ล้านจัญไร คือ ล้านเป็นหย่อมๆ ล้านไม่สม่ำเสมอ ล้านแบบนี้เชื่อว่า ทำอะไรก็มีแต่จะล่มจมเสียหาย
คนไทยสมัยก่อนคงจะสนุกสนานกับคนหัวล้านกันมาก ในวรรณคดีไทยเก่าๆ หรือนิทานพื้นบ้าน จะพบเรื่องราวของคนหัวล้านอยู่หลายครั้ง แม้แต่คำพังเพยก็มีหลายวลี เช่น “ หัวล้านได้หวี ” “ หัวล้านนอกครู ” “ หัวล้านพลอยตาย ” “ คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง ” เป็นต้น
บทร้องเล่นของเด็กก็มี เช่น “ หัวล้านหัวเหลือง หัวละเฟื้องสองไพ ” คนหัวล้านแต่หัวไวก็ตอบว่า “ หัวล้านหัวถ่อ หัวล้านพ่อมึงเมื่อไร ” หรือไม่ก็ “ หัวล้านหัวคน หัวขนหัวหมา ” (โว้ย)
ที่มาของวลีว่า “หัวล้านพลอยตาย ” มาจากนิทานเก่าเล่าว่า
หัวล้านคนหนึ่งเกิดคุ้มคลั่ง ปีนขึ้นไปโวยวายอยู่บนปลายตาล(ตอนนั้นคงยังไม่มียาบ้า) และตะโกนว่าจะกระโจนลงมาให้คอหักตาย พอดีมีหัวล้านอีกสี่คนผ่านมา ก็คิดจะช่วยเหลือ จึงช่วยกันจับมุมผ้าห่มขึงไว้รองรับ เมื่อหัวล้านที่ปลายตาลกระโจนลงมา กลับปรากฏว่า หัวล้านทั้งสี่คะมำ หัวชนกันตายทั้งหมด ทั้งหัวล้านบนยอดตาลและหัวล้านที่รอรับรับอยู่โคนตาล.
ส่วนคำพังเพย “ หัวล้านนอกครู ” มีนิทานประกอบเช่นกัน เล่าว่า
ศิษย์หัวล้านคนหนึ่งไปหาครู ขอให้ช่วยรักษาอาการหัวไม่มีผมนี่ให้ที ครูเมตตาบอกคาถาปลุกผมให้ และบอกวิธีการทำให้เสร็จ เริ่มต้น คือให้ไปบริกรรมคาถาริมสระน้ำ ว่าคาถาคาบหนึ่ง แล้วกระโจนลงสระทีหนึ่ง แล้วขึ้นมาบริกรรมใหม่อีกสองคาบ แล้วกระโจนครั้งที่สอง ขึ้นมาบริกรรมอีกสามคาบ แล้วกระโจนครั้งที่สาม แค่นี้ ผมจะดกขึ้นเป็นปกติ ศิษย์ก็จำคาถาไปทำตาม จนครบสามครั้ง ก็ปรากฏว่าได้ผล ผมดำๆขึ้นเต็มหัวเป็นปกติ
แต่แล้วก็เกิดโลภ คิดว่า ถ้าทำอีกคงจะผมดกกว่าคนทั่วไป เป็นการเผื่อเหลือเผื่อขาด คอนเฟิร์มซักหน่อย จึงทำเป็นครั้งที่สี่ ปรากฏว่าเมื่อขึ้นมากลับหัวล้านอย่างเดิม คาถาที่ครูบอกก็เสื่อมเสียแล้ว ใช้ไม่ได้ เริ่มใหม่อีกครั้งก็ไม่ได้แล้ว ผมดำไม่ถึงนาทีกลับไปล้านอย่างเก่า เพราะ อวดรู้ดี และ ความโลภแท้ๆ เฮ้อ.
ขอขอบคุณที่มาข้อมูลwww.thaistartainment.com/
ข้อมูล และ ภาพประกอบ จาก หนังสือ“ตำนานหัวล้านไทย” จัดพิมพ์เนื่องในงาน ครบรอบ ๕ ปี พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
นิทานคนหัวล้าน
นานมาแล้วยังมีชายหัวล้าน
คนกล่าวขานชอบยกยอและปอปั้น
หากใครพูดถูกใจยกให้พลัน
แม้จะขออะไรนั้นเขายินดี
เขามีวัวตัวงามอยู่หนึ่งคู่
พอคนรู้ต่างขอซื้อวัวคู่นี้
เสนอเงินยื่นให้ไม่ใยดี
แม้เศรษฐีตีราคามามากมาย
ถ้าหากใครเรียกมาว่าหัวล้าน
เขายิ่งเหมือนคนพาลไม่ยอมขาย
แถมขึ้งโกรธโทษคนอีกมากมาย
เขาเหมือนกายร้อนรุ่มไฟสุมกัน
มาวันหนึ่งมีชายผ่านหน้าบ้าน
รู้ว่าคนหัวล้านชอบยอปั้น
ชายผู้นี้เข้าไปกราบและไหว้พลัน
แถมคำพูดทักทายนั้นชวนสดับ
“พ่อผมดกปกไหล่ผิวเหมือนทอง”
วัวคู่นี้ใครจองหรือยังครับ
ชายหัวล้านได้ยินยิ้มตอบกลับ
เชิญพ่อหนุ่มมารับวัวเราไป
เพราะเจ้าพูดไพเราะเสนาะหู
วัวทั้งคู่เรายินดีให้เจ้าไว้
หนุ่มจูงวัวเดินยิ้มและจากไป
คำพูดให้ประโยชน์เพราะโอษฐ์งาม
ปากเป็นเอกเลขเป็นโทโบราณกล่าว
คนหนุ่มสาวยุคสมัยอย่ารอถาม
พูดไพเราะเสนาะโสตถ้อยงดงาม
คำโบราณ..นิยามไม่ล้าเลย
ขอบคุณที่มานิทาน
.....คุณครูนำความรู้เหล่านี้ไปเล่าถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ฟังบ้างก็ดีนะคะ...เขาจะได้รู้ที่มาของ..หัวล้านนอกครู (ภาษาอีสาน หัวล้านลื่นครู)