“คนดี” เป็นอีกหนึ่งคำที่ถูกทำให้เลื่อนเปื้อนตามคำว่านิติรัฐและนิติธรรมไปติดๆ
กระทั่งนามธรรมแห่ง “ความดี” ที่เคยเป็นถ้อยคำอันยุติไม่มีผู้ใดสงสัยหรือไต่ถามความหมาย เป็นพรมงคลดังเช่นเวลาผู้หลักผู้ใหญ่อวยพรลูกหลานว่าขอให้ยึดมั่นใน “ความดี” เป็น “เด็กดี” เป็น “คนดี” ของสังคม ปัจจุบันก็ถูกนำมาตั้งคำถามในทางปรัชญาว่า “คนดี-ความดีคืออะไร” เป็นสิ่งอันสัมบูรณ์หรือสัมพัทธ์ตามบริบท ความดีนั้นเป็นความดีสำหรับทุกคน หรือความดีแต่เฉพาะใคร
กลายเป็นยุคสมัยที่ “คนดี” และ “ความดี” มีข้อสงสัยไปถึงขั้นตั้งรังเกียจ ก็คงเริ่มจากที่ผู้คนบางกลุ่มเขียนป้ายแขวนคอตนเอง อวดอ้างว่าเป็น “คนดี” กันได้ง่ายๆ แม้แต่นักกลอนพาไปที่เด่นดังเพราะแต่งกลอนเหน็บแนมทางการเมือง ก็ยังอุตส่าห์ขนานนามตนเองเป็น “คนดี” กับเขาเหมือนกัน บรรดา “คนดี” เหล่านั้นนำเอา “ความดี” ไปใช้กล่าวอ้างเพื่อยกตนกดข่มผู้อื่นบ้าง หรือใช้เพื่อละเลยยกเว้นหลักการต่างๆ ไปจนถึงขั้นละเมิดสิทธิเหยียบย่ำความเสมอภาคของผู้คนทั้งในทางการเมือง ทางสังคม จนคำว่า “คนดี” ถูกใช้เป็นคำเสียดสี เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ “คนดี” การกินส่วนต่างแบบ “คนดี” ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องน่าประทับใจ ตื้นตัน และอบอุ่นใจเรื่องหนึ่งที่อาจจะทำให้เรากลับมาศรัทธาใน “ความดี” และ “คนดี” กันอยู่บ้าง
เรื่องของคุณครูใหญ่ในโรงเรียนเล็กๆ ที่ยืนหยัดท่ามกลางคอนโดมิเนียมและอาคารสูงรายรอบ บนผืนดินที่มีมูลค่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในซอยสุขุมวิท 8 คุณครูท่านนี้คือหม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ครูใหญ่และทายาทของหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นจากเจตนารมณ์ของท่านซึ่งประสงค์จะให้มีสถานที่ให้เด็กๆ แถวนั้นได้มีที่เรียนหนังสือ กลายมาเป็น “โรงเรียนวรรณวิทย์” ที่ผู้คนส่งต่อความประทับใจให้กันจนกลายเป็นกระแสไปทั่วโซเชียลเน็ตเวิร์กในช่วงสัปดาห์ก่อนวันครูที่ผ่านมา
คุณครูใหญ่วัย 96 ปี ผู้ปฏิเสธเงินหลักพันล้านบาท ด้วยเห็นว่าเงินเป็นแค่เศษกระดาษ เมื่อเทียบกับชีวิตและอนาคตของเด็กๆ ได้รับการรายงานในสื่อต่างๆ และที่ยิ่งทำให้ผู้คนรู้จัก ก็มาจากภาพยนตร์สั้นโฆษณาเชิงสังคมของร้านสะดวกซื้อเครือใหญ่ ซึ่งแนะนำอย่างยิ่งว่าควรจะลองหามาดูซึ่งคงหาได้ไม่ยากนักผ่านเครือข่ายสังคมและอุปกรณ์ที่ท่านสะดวก ด้วยภาพยนตร์ดังกล่าวบอกเล่าเรื่องได้อย่างประณีต งดงามอย่างพอดีๆ ทั้งในเรื่องของอารมณ์และการเสนอผลิตภัณฑ์อย่างมีกาลเทศะและรสนิยม
ทั้งนี้ ยังมีเกร็ดที่ควรบันทึกไว้สำหรับวงการนักเขียนของไทย ได้แก่ การที่ท่านผู้ก่อตั้งโรงเรียนนั้นเป็นนักเขียนหญิงคนสำคัญท่านหนึ่งของบรรณพิภพ นามปากกา “วรรณสิริ” ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “นางทาส” และ “วนิดา” ที่ถูกอ่านและแปรรูปเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์มาหลายยุคหลายสมัย ค่าลิขสิทธิ์ที่ได้จากนิยายทั้งสองเรื่องนี้เอง เป็นเงินที่ก่อตั้งและหล่อเลี้ยงให้โรงเรียนวรรณวิทย์นี้อยู่ยั้งยืนยงมาได้ แม้จะเก็บค่าเล่าเรียนถูกแสนถูกเพื่อให้เด็กที่ฐานะไม่ดีนักในละแวกนั้นสามารถเข้าเรียนได้อย่างไม่เป็นภาระหนักแก่ผู้ปกครอง ตามเจตนารมณ์ของท่านผู้ก่อตั้ง
เรื่องของโรงเรียนวรรณวิทย์กับคุณครูใหญ่ อาจจะช่วยเรียกและพลิกฟื้นศรัทธา ไม่ใช่แต่กับคำว่า “คนดี” และ “ความดี” หากรวมแม้แต่คำว่า “ครู” หรือ “อาจารย์” ที่เคยเป็นปูชนียบุคคลก็ด้วย
ในยุคแห่งการตั้งคำถามและถอดรื้อ บางคนอาจมองว่าครูนั้นเป็น “ผู้รับจ้างสอนหนังสือ” มีความสัมพันธ์ต่อผู้เรียนอย่างสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งจะว่าคนพูดเป็นเสรีนิยมไร้หัวใจหรือมนุษย์เนรคุณก็อาจจะเป็นการมองด้านเดียวไป เพราะประสบการณ์ของผู้คน ตลอดจนข่าวคราวที่ออกมาจากผู้ประกอบวิชาชีพครูอาจารย์ในปัจจุบันนั้นเราก็พอรู้เห็นว่ามีครูที่สอนหนังสือแค่พอผ่านไปวันๆ ครูที่มีมาตรฐานการสอนระหว่างนักเรียนที่ต้องสอนในโรงเรียนตามหน้าที่กับนักเรียนที่จ่ายเงินเรียนพิเศษส่วนตัวเป็นคนละมาตรฐานกัน ครูที่ไม่ยอมแสวงหาความรู้แต่เอ็ดอึงเอาแก่เด็กที่มีข้อมูลใหม่ๆ หรือคิดต่างเห็นต่าง รวมกระทั่งครูที่อาศัยอำนาจหน้าที่ล่วงละเมิดทางร่างกาย ทรัพย์สิน หรือแม้แต่ทางเพศ
ผู้คนอาจจะได้รู้เห็นเรื่องของครูในแบบนั้น จนหลงลืมว่าเคยซาบซึ้งกับเรื่องของคุณครู โคบายาชิแห่งโรงเรียนโทโมเอะ จาก “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” นิยายเยาวชนอมตะที่ดัดแปลงมาจากเรื่องจริง และอาจจะไม่นึกไม่ฝันว่าในประเทศไทยยังมี “ครู” แบบคุณครูใหญ่และบรรดาคุณครูของโรงเรียนวรรณวิทย์ ที่ยังคงทำหน้าที่ด้วยอุดมการณ์เช่นเดียวกับท่านผู้ก่อตั้ง จนการสอนหนังสือและดูแลเด็กๆ เลยพ้นไปจากการปฏิบัติหน้าที่ สู่การเป็นปฏิบัติบูชาคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ คือจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูผู้ให้
เรื่องของโรงเรียนวรรณวิทย์ และอุดมการณ์ของครูก็เป็นอีกเรื่องที่ชุบชูใจให้เรายังศรัทธาต่อความดี ความดีที่แท้ซึ่งเราสัมผัสได้อย่างเป็นสากล จากความอบอุ่นที่ก่อขึ้นในหัวใจเมื่อได้รับทราบเรื่องราว เป็นข้อที่ให้เราได้ระลึกรู้ว่า คนดีที่แท้และความดีนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องประกาศหรือกล่าวอ้างแต่อย่างใดเลย
ที่แท้แล้ว “คนดี” ผู้ไม่อวดอ้างทั้งหลายนั้น เขาทำ “ความดี” ผ่านการปฏิบัติหน้าที่อันเรียบง่ายด้วยอุดมการณ์อย่างหนึ่งที่มุ่งมั่น อุดมการณ์นั้นเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือผู้คนให้มีความสุข หรือปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่ผู้เดือดร้อนจำเป็น เพียงเท่านี้เอง
ความอบอุ่นใจจากเรื่องราวของคุณครูและโรงเรียนกลางหมู่ตึกระฟ้านั้น ยังให้เรามีศรัทธาว่า ในสังคมนี้คงยังมีคนดีที่เราอาจจะไม่รู้จักอีกมาก ทั้งตำรวจที่พยายามจะป้องกันเหตุร้ายหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างเต็มที่แม้จะอยู่นอกเหนือเวลางาน คุณหมอที่ควงเวรไม่กลับบ้านสามสี่วันเพราะคนไข้ยังรอการรักษา เภสัชกรที่ออกแบบคู่มือการใช้ยาอย่างสวยงามเพื่อให้ผู้มาติดต่อสนใจหยิบติดมือไปอ่าน ผู้พิพากษาที่ตั้งใจอ่านสำนวนอย่างละเอียดทุกหน้า ตรวจพยานหลักฐานทุกชิ้นเพื่อให้การพิพากษาออกมาโดยยุติธรรมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
บรรดาคนที่เป็นคนดีผู้ทำหน้าที่ของตนอย่างสงบนี้เอง ที่เป็นของจริงที่ประทับใจผู้คนได้ โดยไม่ต้องอวดอ้างว่าเป็นคนดี แล้วตู่แย่งหน้าที่หรือการงานอันหาใช่กิจของตน โดยอ้างว่ากำลังทำความดี
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 22 มกราคม 2559