คอลัมน์: ก.ค.ศ.ตีกลับเกณฑ์คัดเลือก'บิ๊กร.ร.'หลังสพฐ.ชงกลุ่มประสบการณ์ไม่ต้องสอบ อ้างผ่านคัดเลือกน้อย-'จินตนา'ชี้ไร้เหตุผล
เมื่อวันที่ 22 มกราคม นางจินตนา มีแสงพราว รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผย ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและระบบบริหารงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอขอให้ปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรอง ผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ.โดยขอให้ผู้ที่เข้า คัดเลือกในกลุ่มประสบการณ์ ไม่ต้องผ่านการ สอบข้อเขียน แต่ที่ประชุมยังไม่เห็นชอบ โดย ขอให้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของ ก.ค.ศ. และ สพฐ.มาพูดคุย เพื่อจัดทำรายละเอียด รวมถึงเหตุผล และความจำเป็นที่จะต้องปรับ มาให้พิจารณาในการประชุม อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ ครั้งต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หากที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ ให้ความเห็นชอบ จะต้อง เสนอให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ.ที่มี พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ต่อไป
"สพฐ.เสนอขอปรับหลักเกณฑ์การ คัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน และรอง ผู้อำนวยการโรงเรียน กลุ่มประสบการณ์ แต่ยังไม่มีเหตุผล และรายละเอียดที่ชัดเจนประกอบการพิจารณา บอกแต่เพียงว่าที่ผ่านมามีจำนวนผู้สอบผ่านการคัดเลือกได้น้อยกว่าตำแหน่งว่าง จึงเสนอให้ปรับหลักเกณฑ์ในกลุ่มประสบการณ์ ขอให้ไม่ต้องสอบข้อเขียน ดังนั้น จึงให้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ก.ค.ศ.และ สพฐ.ก่อน เพื่อหาเหตุผล และความจำเป็นที่จะต้องปรับ โดยไปดูหลักเกณฑ์การคัดเลือกในหลายด้าน ว่าส่วนใหญ่แล้ว ผู้สอบคัดเลือกไม่ผ่านหลักเกณฑ์ใด เป็นเพราะข้อสอบยากเกินไป หรือเป็นเพราะอะไร ส่วนจะเป็นเพราะข้อสอบคัดเลือกยากเกินไปหรือไม่นั้น ดิฉันไม่ทราบ เพราะข้อสอบจะเป็น ความลับ โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องไปหารือกัน แต่หากเห็นว่าจำเป็นต้องปรับจริงๆ ก็เสนอให้ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ พิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์นี้" นางจินตนากล่าว
นางจินตนากล่าวอีกว่า ส่วนการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนตามหลักเกณฑ์และ วิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ สังกัด สพฐ.นั้น ถือเป็นอำนาจของ สพฐ.ในการคัดเลือกโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงาน การศึกษาพิเศษ แจ้ง สพฐ.พิจารณา ประกาศให้เป็นสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ โดยให้ คำนึงถึงพื้นที่ที่เป็นเกาะ หรือบนภูเขาสูง หรือหุบเขา หรือเชิงเขา ที่ไม่สามารถเดินทางด้วยพาหนะใดๆ ได้สะดวกตลอดปี หรือ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ โดยจะมีคณะกรรมการคัดเลือกตามเกณฑ์ ของ สพฐ.โดยไม่ต้องรายงานให้ ก.ค.ศ.รับทราบ
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2559