1 เม.ย. 59 ระบบการประเมินผลงานข้าราชการ 20 กระทรวง 148 กรม 50 รัฐวิสาหกิจ และ 40 องค์การมหาชน และอาจรวมถึงผู้บริหารในระดับท้องถิ่น ทูตานุทูตตามสถานทูตต่างๆ จะถูกนำมาใช้เก็บคะแนนเพื่อเลื่อนขั้น-ขึ้นเงินเดือน ชนิด "360 องศา" โดยผลการประเมินจะให้คุณ-ให้โทษนับตั้งแต่ฤดูกาลแต่งตั้ง-โยกย้าย 1 ต.ค.นี้
เพื่อให้ทันกับอายุของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เหลือเวลาบริหารราชการแผ่นดินอีกไม่นาน เพื่อป้องกันข้าราชการใส่เกียร์ว่าง-รอรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ลงจากอำนาจ
ยิ่งบนเส้นทางข้างหน้าของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากนี้ ยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่รอการเข้ามาตรวจสอบขององค์กรจากต่างประเทศ เช่น ประมงผิดกฎหมาย ค้ามนุษย์และมาตรฐานการบิน รวมถึงการขับเคลื่อนมาตรการทางเศรษฐกิจโครงการเล็ก กลางและเมกะโปรเจ็กต์
ต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือ-น้ำพักน้ำแรงของข้าราชการ ที่เป็นฟันเฟืองหลัก ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด คือ ก.ค. 60 หากทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป
ปัจจุบันกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน ปีงบประมาณ 2557 ตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีจำนวนถึง 2.09 ล้านคน โดยเป็นข้าราชการประจำ 1,274,002 คน แบ่งเป็นส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค 1,070,990 คน และส่วนท้องถิ่น 203,012 คน
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ผู้รับภารกิจหินปฏิรูปข้าราชการทั้งองคาพยพ-ยกเครื่องระบบประเมินข้าราชการระบบใหม่ ขยายความของระบบการประเมินผลงานข้าราชการกว่า 2.09 ล้านคน แบบ 360 องศา (360 De-gree Appraisal) ว่า จะมีผู้ประเมิน 3 ส่วน ได้แก่ ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานและประชาชนผู้เข้ารับบริการ
โดยยึดหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ประกอบด้วย
1.การประเมินจากภาระหน้าที่ปกติ หรืองานประจำ
2.ประเมินตามภารกิจพิเศษ-ยุทธศาสตร์ หรือ "งานหลัก" และ
3.ประเมินตามพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย
ดร.วิษณุอธิบายเพิ่มเติมว่า การประเมินนั้นจะเป็นแบบ 360 องศา คือ ผู้บังคับบัญชา-เพื่อนร่วมงานประเมินและประชาชนผู้รับบริการหรือลูกค้าประเมิน โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป เพื่อใช้เลื่อนขั้น-ขึ้นเงินเดือนและจ่ายโบนัส ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่หากไม่ผ่านการประเมินจะถูกลดงบประมาณ งดโบนัส และอาจจะมีการแต่งตั้ง โยกย้าย-สับเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่ง
"อย่าลืมว่าประชาชนเขาก็มีส่วนประเมินด้วย ถ้านายเขาให้ดี แต่ลูกค้าหรือประชาชนบอก ฉันไปติดต่อทีไร ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว พูดจาไม่สุภาพ ลำเอียง เลือกปฏิบัติ ผมว่าคะแนนพวกนี้มีน้ำหนัก" ดร.วิษณุระบุข้อดี
ขณะนี้ ดร.วิษณุ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กระทรวงมหาดไทย สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ กำลังขะมักเขม้นวางหลักเกณฑ์ร่วมกันเพื่อให้ทันใช้เก็บคะแนน-ประเมินผลงานในวันที่ 1 เม.ย.นี้
"การประเมินข้าราชการระบบใหม่จะแตกต่างจากระบบเดิม จากที่ข้าราชการสามารถต่อรองภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ เช่น งบประมาณไม่เพียงพอหรือขาดแคลนบุคลากร แต่ระบบใหม่จะกำหนดภารกิจหลักไว้ชัดเจนและไม่สามารถต่อรองได้ เช่น การแก้ปัญหาภัยแล้ง หรือการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ" นายชูเกียติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการ ก.พ.ร.ระบุ
สำหรับตัวชี้วัดเพื่อประเมินผล ประกอบด้วย ตัวชี้วัดจาก ก.พ. ก.พ.ร. สภาพัฒน์ สำนักงบ ฯ และอาจจะมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาร่วมประเมินด้านความโปร่งใสขององค์กรอีกด้วย
นอกจากการใช้ตัวชี้วัดของระบบข้าราชการที่มีอยู่แล้ว ยังมีตัวชี้วัดระดับสากลจากต่างประเทศประกอบการประเมินด้วย เช่น มาตรฐานของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการฟอกเงิน (FATF)
ความหวังของรัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์คงจะถึงฝั่ง เมื่อระบบเครื่องยนต์วัดผลงานใหม่เริ่มขับเคลื่อน กลไกข้าราชการเริ่มทำงาน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 20 มกราคม 2559