เมื่อวันที่ 20 มกราคม นางสิริกร มณีรินทร์ อดีตประธานคณะกรรมการโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนของชุมชน เปิดเผยเกี่ยวกับการปัญหาการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็ก ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนเกือบ 100% มาจากความช่วยเหลือของชุมชน และผู้อำนวยการโรงเรียนที่ไม่ย่อท้อ มองว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้เบ็ดเสร็จ ต้องนำข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กแต่ละแห่งมาพิจารณาปัญหาเป็นรายภูมิภาคอย่างจริงจัง และซื่อสัตย์ต่อข้อมูล รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาให้ได้คนที่ตั้งใจจริง ไม่ใช่ใช้เป็นทางผ่านให้ก้าวหน้าทางวิชาชีพ เพราะปัญหาหลักของโรงเรียนขนาดเล็กคือขาดแคลนครูผู้สอน ซึ่งระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ดีแอลทีวี) แก้ปัญหาได้เพียงส่วนหนึ่ง จึงควรมีครูให้ครบชั้น หรือหากโรงเรียนไม่มีนักเรียนเรียนแต่ปิดไม่ได้ ก็ควรตัดสินใจร่วมกับชุมชนว่าจะใช้ประโยชน์ในสถานที่ราชการอย่างไร
น.ส.สาลิตา เรียนทับ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่า จ.ชัยนาท กล่าวว่า ปัญหาหลักของโรงเรียนคือขาดแคลนครู อาคาร และวัสดุอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ทำให้ต้องสอนเด็กท่องจำแทนการปฏิบัติจริง แต่โรงเรียนแก้ปัญหาโดยขอรับบริจาคเงินจากชุมชนที่อยู่บริเวณรอบๆ ชุมชนด้านนอกที่เห็นความสำคัญ รวมถึง สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระหว่างชุมชน นำครูท้องถิ่นเข้ามาช่วยสอนในวิชาที่ขาดแคลน จัดสอนเสริมแบบไม่เก็บเงินจากผู้อำนวยการ ครู และชุมชน เพื่อให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังขาดนักการภารโรง
น.ส.นงนุช กั้งยอด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเปล จ.นราธิวาส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โรงเรียนไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน เพราะมองว่ามีปัญหาคุณภาพการศึกษา จึงนำระบบดีแอลทีวีเข้ามาช่วยสอนในวิชาที่ขาดครู ใช้ระบบหมุนเวียนครูสอน รวมถึงบริหารแบบครอบครัวร่วมกับชุมชน นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยสอน ขณะนี้โรงเรียนมีปัญหาเรื่องภาษาไทย เพราะนักเรียนเป็นชาวมุสลิม บางครอบครัวสอนการบ้านไม่ได้ ทางโรงเรียนจึงแก้ปัญหาโดยเริ่มสอนภาษาไทยตั้งแต่ชั้นอนุบาล จัดให้เรียนในโรงเรียนขนาดกลางที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเพื่อแก้การอ่านไม่ออก และเขียนไม่ได้ รวมทั้งมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
นายชลำ อรรถธรรม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวว่า สพฐ.ได้แก้ปัญหาโดยใช้ดีแอลทีวี การหมุนเวียนครู และนักเรียน สอนแบบเรียนรวม มีรถรับส่งไปเรียนโรงเรียนอื่น รวมถึงคัดเลือกโรงเรียนขนาดเล็กที่มีวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศเป็นต้นแบบ ให้ผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพได้ แต่ยังมีปัญหาเพราะขาดความเข้าใจระหว่างโรงเรียนกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชุมชนที่มีส่วนสำคัญ จากนี้ต้องสร้างความเข้าใจ และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เตรียมหารือร่วมกับนายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โดยขอให้ครู กศน.ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาช่วยสอนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก รวมทั้งนำสื่อการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2559 (กรอบบ่าย)