เชื่อมรัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.ศึกษาใหม่
เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2559 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ขณะนี้ตนได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอหารือแล้ว โดยเสนอขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้มีการจัดตั้งกรมวิชาการ และรวมอาชีวศึกษาเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มาอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกาว่ามีผลกระทบอะไรแค่ไหน โดยตนคงต้องไปสร้างความเข้าใจกับกฤษฎีกา ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถอธิบายให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นถึงเหตุผลและความจำเป็นได้อย่างแน่นอน
ต่อข้อถามถึงการปรับโครงสร้างใหม่ในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ไม่อยากให้เรียกว่าโครงสร้างใหม่ แต่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างแน่ ซึ่งยังไม่ทำในขณะนี้เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาจจะส่งผลกระทบกับคนเป็นจำนวนมาก อะไรที่มีผลกระทบกับคนจำนวนมากทำแล้วมีคนได้และเสียประโยชน์ ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนในทุกๆเรื่อง อย่างไรก็ตามการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเกิด และทำให้แล้วเสร็จตามโรดแม็ปภายใน 1 ปี 6 เดือนแน่นอน เพราะโครงสร้างจะต้องเชื่อมโยงตั้งแต่รัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีข้อเสนอให้ปรับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นองค์กรในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการนั้น คงต้องย้อนกลับไปดูปัญหาว่าโครงสร้างเดิมที่ผ่านมามีปัญหาอะไร หรือมีช่องว่างอยู่ตรงไหนและสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าแก้ไขด้วยโครงสร้างเก่าไม่ได้ก็คงต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ เหมือนกับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการที่ตนต้องขอดูว่าปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้างแก้ไขได้หรือไม่ เมื่อระบบเก่าแก้แล้วไปไม่รอดก็ต้องแก้ด้วยระบบใหม่ โดยต้องดูด้วยว่าจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทั้งหมดหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็ปรับโครงสร้างเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ตนไม่อยากจะเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการให้มากมายจนเจอกับปัญหาอีก.
ที่มา: http://www.thairath.co.th
ศธ.ปรับโครงสร้างเสร็จใน 1 ปี 6 เดือนชง กม.ตั้ง’กรมวิชาการ-รวมอาชีวะ’กฤษฎีกา’บิ๊กหนุ่ย’เตรียมยกเครื่อง’สลช.’ถ้าไปไม่รอด
เมื่อวันที่ 20 มกราคม นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าพบ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อหารือเรื่องการฟื้นฟูกิจการลูกเสือแห่งชาติใน 4-5 ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้าง สลช.ที่ค่อนข้างจะหละหลวม ซึ่ง กมธ.การศึกษาฯ เสนอให้ปรับโครงสร้าง สลช.โดยอยากให้เป็นองค์กรในกำกับ ศธ.คล้ายๆ กับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา หรือสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนลียี (สสวท.) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพูดคุยเรื่องทรัพย์สินของ สลช.ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะค่ายลูกเสือที่มีอยู่กว่า 133 ค่าย แต่ใช้งานได้ประมาณ 9 ค่าย ส่วนที่เหลือรกร้าง ซึ่งหลายแห่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ สลช.และหลายแห่งกรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าไปตั้งค่ายลูกเสือ ฉะนั้น หากบริหารจัดการค่ายลูกเสือที่เหลืออีกกว่า 100 ค่ายดีๆ จะมีรายได้เลี้ยงตัวเอง และทำให้กิจการลูกเสือมั่นคงแข็งแรง
"ขณะเดียวกันยังมีทรัพย์สินทางปัญญา คือเครื่องหมายลูกเสือทั้งหมด ซึ่งได้ให้ลิขสิทธิ์องค์การค้า (อค.) ของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ไปผลิต หาก อค.ส่งเงินค่าลิขสิทธิ์ที่ให้ไปจำหน่ายเครื่องหมายลูกเสือโดยหักกำไร 5% ให้ สลช.บวกค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องจ่ายให้ สลช.อีก 200 ล้านบาทตามสัญญา สลช.จะอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐ แต่ปัจจุบัน อค.ยังตอบไม่ได้ว่าเครื่องหมายลูกเสือที่ขายไปแต่ละปีได้เงินเท่าไหร่ เพราะ อค.ไปจ้างบริษัทอื่นผลิต ทำให้เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้" นายชัยยศกล่าว
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ข้อเสนอที่ให้ปรับ สลช.เป็นองค์กรในกำกับของ ศธ.ต้องย้อนไปดูปัญหาว่าโครงสร้างเดิมมีปัญหาอะไร ช่องว่างอยู่ตรงไหน และแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าแก้ไขด้วยโครงสร้างเก่าไม่ได้ ก็คงต้องปรับโครงสร้างใหม่เหมือนกับโครงสร้าง ศธ.ที่ตนต้องขอดูว่าปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้าง แก้ไขได้หรือไม่ เมื่อระบบเก่าแก้ไม่รอด ก็ต้องแก้ด้วยระบบใหม่
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการปรับโครงสร้าง ศธ.นั้น ขณะนี้ได้เสนอข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการตั้งกรมวิชาการ และการควบรวมอาชีวศึกษารัฐ และเอกชน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในเบื้องต้น เพื่อดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแง่ต่างๆ จากนี้ต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะตอบกลับมาอย่างไร มั่นใจว่าจะอธิบายให้กฤษฎีกาเห็นถึงเหตุผล และความจำเป็นได้อย่างแน่นอน จากนั้นจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป
"ส่วนการปรับโครงสร้าง ศธ.ในภาพรวม อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน เพราะมีผลกระทบกับคนจำนวนมาก ทำแล้วมีคนได้ และเสียประโยชน์ ดังนั้น ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนในทุกเรื่อง อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ต้องเกิด และเสร็จตามโรดแมปภายใน 1 ปี 6 เดือนแน่นอน เพราะโครงสร้างใหม่ต้องเชื่อมโยงตั้งแต่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยทั้งหมดต้องใช้เวลา" พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2559 (กรอบบ่าย)